xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งเป้า 7 ปีปั้นไทยศูนย์รวมออกแบบแฟชั่นสิ่งทอโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปราโมทย์  วิทยาสุข ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจับมือกระทรวงอุตสาหกรรม เผยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เล็งยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นสิ่งทอในปี 2564 และสร้างแบรนด์ไทยระดับโลก ปี 2573 ผ่านแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรม 3 ระยะ พร้อมพัฒนาสิ่งทอจากใยพืช รังสรรค์นวัตกรรมใหม่
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นศูนย์กลางดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทยทั้งระบบ ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นจึงเป็นเรื่องจำเป็น ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน

ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้านอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนอุตสาหกรรมที่ใช้ในการออกแบบและสร้างสรรค์ และก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสิ่งทอของโลก โดยมีเอเชียเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของโลก และมีอาเซียนเป็นภูมิภาคการผลิตและการบริโภคที่สำคัญในอนาคต อุตสาหกรรมไทยจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ ให้สอดคล้องกัน
สิ่งทอที่ได้รับรางวัล
ดังนั้น ทางกรมฯ จึงได้กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยคู่ขนานไปกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 2 แนวทาง คือ 1. พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปสู่ชีวภาพเต็มรูปแบบ (Bio-Based) และ 2. พัฒนาสู่เทคโนโลยีขั้นสูงและการสร้างสรรค์ (Hightech & Creative) โดยมีเป้าหมายระยะยาว ปี 2573 คือ มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในระดับสากลอย่างยั่งยืน (Sustainability) จากการใช้วัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางชีวภาพ และสร้างการรับรู้และยอมรับตราสินค้าไทยในระดับโลก

ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น มีการกำหนดเป็นแผนระยะยาว 15 ปี ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2573 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยแบ่งเป็นเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในปี 2559 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการค้า การจัดหาสิ่งทอแฟชั่น (Sourcing and Trade from Thailand) ระยะที่ 2 ปี 2564 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์รวมการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ระดับโลก (Design and Development Solution for International Brands) เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคและบุคลากรที่เหมาะสมในการตั้งเป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาค และระยะที่ 3 ปี 2573 ผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำวัฒนธรรมแฟชั่น และการออกแบบสิ่งทอของโลก (Global Fashion Culture Influence) โดยการนำทุนวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความเข้มแข็ง บูรณาการร่วมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
เส้นใยสับปะรดสู่การพัฒนาขึ้นรูปเป็นเรือไฟเบอ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสถาบันฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค แล้วเสร็จพร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์เส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค” (Technical Textiles) ครั้งแรก โดยที่ได้นำเอาวัตถุดิบเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรที่มีปริมาณมากจำนวน 3 ประเภท อันได้แก่ ใยสับปะรด เปลือกผลตาล และใยหมาก มาต่อยอดเป็นวัตถุดิบเส้นใยคุณภาพในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยสามารถพัฒนาเส้นใยได้ 4 ชนิด คือ “ใยตาล” ด้วยเส้นใยที่มีรูกลวง สามารถใช้เป็นฉนวนความร้อนและเย็นได้ดี อีกทั้งยังสามารถคืนรูปได้ทันทีหลังการใช้งาน “ใยสับปะรดแบบลดทอนคลื่นเสียง” โดยการนำเส้นใยจากใบสับปะรดผสมกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ด้วยคุณลักษณะเส้นใยที่มีความยาว และละเอียด จึงช่วยดูดซับเสียงได้ดี

“ใยสับปะรดแบบใหม่” เป็นเส้นใยที่มีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้ในการผลิตคอมโพสิตแบบต่างๆ และ “ใยหมาก” เป็นเส้นใยที่มีความหนาแน่นต่ำ น้ำหนักเบา ซึมซับน้ำได้ดีและมีรูพรุน จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและยานยนต์ โดยสามารถพัฒนาได้ทั้งหมด 12 ผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงนอนจากเส้นใยตาล เส้นใยสับปะรดสู่การพัฒนาขึ้นรูปเป็นเรือไฟเบอร์ และเส้นใยหมากสู่วัสดุทดแทนโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น