“สุบากิฟู้ด” สยายปีกซอสปรุงรส รุกหนักสู่เครื่องดื่มอย่างจริงจังหลังทำตลาดมาระยะหนึ่งติดลมแล้ว พร้อมเพิ่มพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็น 10% ในปีหน้า พร้อมเปิดตัวใหม่อีกแบรนด์ ด้านแบรนด์เดิม คาฉะ และอัยรา ตลาดรุ่ง ดันปีนี้รายได้ 300 ล้านบาท
นายปริญญา สุมากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุบากิ ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรส คิกโคเคน (KIKKOKEN) และเจ้าของเหล้าบ๊วยแบรนด์ “คาฉะ (KACHA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตซอสปรุงรสและแบรนด์ คิกโคเคน และเป็นสถานที่บรรจุซอสต่างๆ ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เช่น ซอสเทอริยากิ ซอสยากิโซบะ ซอสบาร์บีคิว เป็นต้น เพิ่มจากโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่ที่ถนนเทพารักษ์ที่มีกำลังผลิตเดิมประมาณ 100 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 10,000 ตันต่อปี
ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรวมรายได้ไว้ที่ 300 กว่าล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มซอสซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำมานานกว่า 45 ปีแล้ว มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 95% ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นสัดส่วนรายได้ที่มาจากกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เริ่มมาได้ไม่นานนี้เอง
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะรุกตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง ทั้งการขยายตลาดและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แบรนด์ทำตลาดอยู่ คือ เหล้าขาวแบรนด์ อัยรา ทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2552 และเหล้าบ๊วยแบรนด์ คาฉะ ที่เพิ่งทำตลาดมาเมื่อปี 2555 ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนรายได้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีหน้าสัดส่วนรายได้จากกลุ่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มเป็น 10%
สำหรับปีหน้าเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแต่แบรนด์นำเข้ามาจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทยเท่านั้น ยังไม่มีแบรนด์ที่เป็นของไทยเอง แต่บริษัทฯ จะเป็นแบรนด์แรกที่เป็นของไทย
ส่วนแผนตลาดไวน์หรือเหล้าบ๊วย คาฉะ ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีตั้งแต่ทำตลาดมาซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นผู้นำตลาดในไทยด้วยส่วนแบ่ง 50% จากมูลค่าตลาดรวมเหล้าบ๊วยประมาณ 36 ล้านบาทต่อปี โดยเน้นช่องทางการจำหน่ายที่เป็นโมเดิร์นเทรด เช่น วิลล่ามาร์เก็ต อิเซตัน ฟู้ดแลนด์ พารากอน ท็อปส์ เป็นต้น ประมาณ 70% และช่องทางร้านอาหาร 30% โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีมาก สัดส่วนลูกค้าจะเป็นคนไทยประมาณ 70% และญี่ปุ่น 30% ซึ่งสินค้าใช้วิธีการว่าจ้างโรงงานอื่นผลิตแต่เป็นสูตรของบริษัทฯ เอง มีกำลังผลิตประมาณ 100,000 ขวดต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านขวดต่อปี
ในตลาดมีแต่แบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ เช่นแบรนด์ โชยะ จึงทำให้เรามีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของราคาที่ต่ำกว่าคือ 85-90 บาทต่อขวดขนาด 180 มิลลิลิตร ซึ่งจัดอยู่ในตลาดไวน์ ส่วนผสมหลักคือ ลูกพลัมสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ในระดับ 14.5% แต่แบรนด์นำเข้าแพงกว่าเพราะต้องเสียภาษีนำเข้า อีกทั้งคู่แข่งนำเข้ามาเป็นขวดขนาดใหญ ไม่มีไซส์เล็ก โดยบริษัทฯ ตั้งเป้หมายยอดขายไว้ที่ 1.8 แสน-2 แสนขวดต่อปี ซึ่งเน้นการทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย
ภาพรวมตลาดไวน์ไทยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตมากถึง 10% แบ่งเป็นตลาดไวน์นำเข้าและตลาดไวน์ที่ผลิตในไทย สำหรับตลาดไวน์นำเข้ามีการเติบโตที่ 5% ต่อปี แหล่งนำเข้าหลักคือ ออสเตรเลีย อิตาลี และแอฟริกา