xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.จับมือ ม.เกษตรฯ พัฒนา AUV รองรับสำรวจปิโตรเลียมทะเลน้ำลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.สผ.จับมือคณะวิศวะ ม.เกษตรศาสตร์ พัฒนายานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติเพื่อให้ใช้ได้จริง หวังลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากต่างประเทศ เนื่องจากนับวันการสำรวจปิโตรเลียมอยู่ในทะเลน้ำลึกเป็นส่วนใหญ่

นายพงศธร ทวีสิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานพัฒนาและวิศวกรรม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า ในการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนับจากนี้ไปจะเป็นการสำรวจในทะเลน้ำลึกระดับ 1-3 พันเมตร เช่น แหล่ง M7&M8 ประเทศพม่า แหล่งโมซัมบิก และแหล่งปิโตรเลียมที่บราซิล ซึ่งเป็นระดับความลึกที่มากกว่าแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่มีความลึกอยู่ที่ 60-80 เมตรเท่านั้น โดยไม่สามารถใช้คนลงไปทำงานได้ จำเป็นต้องใช้พัฒนายานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติ (Autonomous Underwater Vehicle : AUV) มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ในด้านดังกล่าว ทำให้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศในราคาที่ค่อนข้างสูง

ดังนั้น ปตท.สผ.จึงได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนายานยนต์ใต้น้ำแบบบังคับมือ (Remoteiy Operated Vehicle : ROV) และยานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติ (AUV) เป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2556 ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการสนับสนุนการวิจัยด้านดังกล่าวเพื่อนำมาใช้เป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาสถาบันการศึกษาในประเทศ และหวังต่อยอดในการพัฒนาเพื่อใช้งานได้จริงในอนาคต อันจะช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากต่างประเทศด้วย

นายพงศธรกล่าวต่อไปว่า ในแต่ละปี ปตท.สผ.มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและซ่อมบำรุงท่อก๊าซฯ และแท่นขุดเจาะปีละนับพันล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอ่าวไทย โดยว่าจ้างเรือและยานยนต์ใต้น้ำแบบบังคับมือเพื่อไปตรวจสอบท่อก๊าซฯ และแท่นขุดเจาะใต้ทะเลจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ใช้เวลา 2-3 วันกว่าจะปฏิบัติการได้ หากไทยมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านยานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติให้ใช้ได้จริงก็จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัว รวมทั้งยังมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการความร่วมมือดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยลัยได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่การทำยานยนต์ต้นแบบจนเป็นยานยนต์ใต้น้ำที่ใช้งานได้จริง เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและด้านอื่นๆ เช่น การวางเคเบิลใต้น้ำ เป็นต้น โดยล่าสุดนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้ทีม SKUBA ได้เข้าร่วมการประลองการแข่งขันเวทีระดับโลกเป็นครั้งแรกในงาน 17th Annual International RoboSub Competition ที่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก ที่มีผู้เข้าแข่งขันมาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกถึง 39 ทีม เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนล

ทีม SKUBA พัฒนายานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติที่ดำดิ่งใต้น้ำด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีการบังคับ เข้าไปแข่งขันจนได้ในเวทีดังกล่าวจนสามารถแข่งถึงระดับ Semi-Final และปีหน้ามหาวิทยาลัยฯ จะส่งทีมเข้าแช่งขันในเวทีระดับโลกนี้อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น