xs
xsm
sm
md
lg

รถร่วมฯ ขสมก.-สองแถวจี้ “คมนาคม” ขอขึ้น 2 บาท ชี้รถเมล์ฟรี-วินมอเตอร์ไซค์-รถตู้แย่งผู้โดยสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม รับมอบหนังสือจากผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเรียกร้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 2 บาท
รถร่วมฯ ขสมก. และสองแถวตบเท้ายื่น “ประจิน” ขอปรับขึ้นค่าโดยสาร 2 บาท และรัฐบาลจัดหาแหล่งเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการบรรเทาความเดือดร้อน เหตุต้นทุนเพิ่มทั้งค่าแรง ค่าอะไหล่ และนโยบายรถเมล์ฟรี วินมอเตอร์ไซค์ รถสี่ล้อเล็ก และรถตู้ วิ่งทับเส้นทางแย่งผู้โดยสาร

วันนี้ (7 ต.ค.) ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ นำโดยนายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนาร่วมเอกชน และนายฉัตรไชย ภู่อารีย์ ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหมวด 4 เอกชน แห่งประเทศไทย ได้นำผู้ประกอบการฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน โดยมีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับข้อเรียกร้อง โดยนางสร้อยทิพย์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษาต้นทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะทุกประเภท โดยคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางจะพิจารณาโดยต้องดูองค์ประกอบในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งหลังจากรับฟังข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน ขสมก. และรถหมวด 4 แล้ว จะต้องให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งคงต้องขอเวลาเพื่อสรุปข้อมูลเสนอต่อ รมว.คมนาคม ซึ่งขณะนี้คงยังรับปากไม่ได้ว่าจะให้ปรับขึ้นราคาหรือไม่ หรือจะช่วยหาแหล่งเงินทุนได้อย่างไร แต่ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งผู้ประกอบการแน่นอน เพราะมีแรงงานทั้งคนขับและผู้เกี่ยวข้องกว่า 3 หมื่นคนที่กำลังเดือดร้อน

นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนาร่วมเอกชน กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ขสมก.ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากขาดทุนเพราะไม่ได้ปรับค่าโดยสารมากว่า 10 ปี ขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งค่าแรง 300 บาท ค่าอะไหล่เครื่องยนต์เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า และได้รับผลกระทบจากโครงการรถเมล์ฟรี 800 คันที่รัฐให้เงินอุดหนุน ขสมก. ในขณะที่รถเอกชนต้องให้บริหารเหมือน ขสมก. ให้สิทธิลดหย่อนแก่เด็ก คนชราเหมือน ขสมก. แต่ไม่ได้รับการอุดหนุนใดๆ โดยทาง ขบ.ได้เคยศึกษาต้นทุนของรถเมล์ธรรมดา (รถร้อน) เมื่อ 2 ปีก่อนพบว่าอยู่ที่ 9.60 บาท แต่รัฐให้ตรึงค่าโดยสารที่ 8 บาท ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องขาดสภาพคล่องและทำให้รถที่มีทั้งหมด 3,600 คันสามารถวิ่งรถให้บริการได้เพียง 70% เท่านั้น

โดยผู้ประกอบการต้องการความชัดจนจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหา โดยเสนอ 3 ข้อคือ 1. ขอให้ช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนระยะยาว 2. ขอปรับราคาค่าโดยสาร รถร้อน จาก 8 บาทตลอดสายเป็น 10 บาทตลอดสาย และรถปรับอากาศยูโรทู ระยะแรก 12 บาทเป็น 14 บาท และปรับขึ้นระยะละ 2 บาท ส่วนยูโร วันระยะแรกจาก 11 บาทเป็น 13 บาท และปรับขึ้นระยะละ 2 บาท โดยจะติดตามความคืบหน้าและรับทราบความชัดเจนอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

“ตอนนี้ต้นทุนสูง ต้องวิ่งเที่ยวน้อยลงเพื่อประคองไปก่อน แต่ภาพรวมยังขาดทุนอยู่ โดยรถร้อนมีต้นทุนการให้บริการกว่า 4,000 บาทต่อคันต่อวันแต่มีรายได้เพียง 3,200 บาทต่อคันต่อวัน เพราะมีรถเมล์ฟรีวิ่งทับเส้นทาง รถปรับอากาศมีต้นทุนการให้บริการกว่า 6,200 บาทต่อคันต่อวัน แต่มีรายได้เพียง 4,500 บาทต่อคันต่อวัน”

ด้านนายฉัตรไชย ภู่อารีย์ ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหมวด 4 เอกชน (รถสองแถว) กล่าวว่า รถสองแถวและรถโดยสารในหมวด 4 มีประมาณ 2,000 คัน ได้รับผลกระทบจากรถตู้ รถจักรยานยนต์รับจ้าง และรถสี่ล้อเล็ก วิ่งทับเส้นทาง แย่งผู้โดยสาร ทำให้ต้องขาดทุน และค่าโดยสารปัจจุบันเก็บต่ำกว่าต้นทุน จึงขอปรับค่าโดยสารรถสองแถวจาก 7 บาทเป็น 10 บาท ส่วนรถธรรมดาจาก 8 บาทเป็น 10 บาท และรถแอร์เก็บตามระยะทางจาก 12-24 บาท เป็น 14-26 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น