xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมบูมลงทุนเมกะโปรเจกต์ปี 58 “บิ๊กจิน” ดัน ครม.อนุมัติรวมกว่า 4.6 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” ตั้งเป้าปี 58 ดัน ครม.อนุมัติรถไฟฟ้า 7 สาย วงเงินกว่า 3.5 แสนล้าน และรถไฟทางคู่ 6 สายทาง วงเงินอีกกว่า 1.1 แสนล้าน พร้อมเคาะงบโครงข่ายขนส่งทางบก 10 ปี (2558-2567) ลงทุน 8.7 แสนล้าน แต่ยังไม่รวมค่าก่อสร้างรถไฟฟ้า, มอเตอร์เวย์ที่เปิดทางให้เอกชนร่วมทุน PPP หรือใช้เงินกู้ ดีเดย์ 1 ม.ค. 58 BMCL ขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินตามสัญญา ยันไม่ใช่เงื่อนไขต่อรองเจรจาเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ด้านการคมนาคมขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 27 กันยายน ได้สรุปแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางบกในปีงบประมาณ 2558-2559 วงเงินรวม 66,025.79 ล้านบาท ส่วนระยะเวลา 10 ปี (2558-2567) มีกรอบวงเงินลงทุนรวม 8.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะยังไม่รวมการลงทุนในส่วนที่ใช้เงินกู้ ส่วนที่ให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP โดยจะสรุปตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งหลังการเวิร์กชอปคมนาคมทางอากาศและทางน้ำแล้วเสร็จ ซึ่งส่วนใหญ่ส่วนที่จะใช้เงินกู้ และร่วมทุนเอกชนนั้นจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้ตั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย วงเงินรวมประมาณ 355,937 ล้านบาทให้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเปิดประกวดราคาในปี 2558 ถือเป็นการเริ่มต้นผูกพันโครงการได้ ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 18.4 กม. วงเงิน 58,878 ล้านบาท 2. สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 58,303 ล้านบาท 3. สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 110,325 ล้านบาท 4. สีเหลือง(ลาดพร้าว-พัฒนาการ-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 56,110 ล้านบาท 5. สีแดง (บางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 6.5 กม. และ (บางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก) ระยะทาง 19 กม. วงเงินรวม 38,469 ล้านบาท 6. สีแดง (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 10 กม. วงเงิน 5,412 ล้านบาท และ 7. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงิน 28,440 ล้านบาท

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่นั้นจะดำเนินการในปี 2558 รวม 6 สายทาง วงเงินรวมประมาณ 118,699 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 11,348 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา 2. ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,152.70 ล้านบาท พร้อมเสนอ ครม.ขออนุมัติ 3. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,452.53 ล้านบาท อยู่ระหว่างนำเสนอขั้นตอนพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ครั้งสุดท้าย และ 4. มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,855 ล้านบาท 5. นครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 16,600 ล้านบาท 6. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,292 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยจะเร่งรัดให้เปิดประกวดราคาแล้วเสร็จในปี 2559 ทั้ง 6 เส้นทาง

“ความจริงรถไฟฟ้าสายสีชมพูพร้อมเสนอ ครม.ได้ภายในปลายปี 2557 นี้แล้ว แต่เห็นว่าควรรอการพิจารณารูปแบบการลงทุนของรถไฟฟ้าทั้ง 6 สายให้เรียบร้อยก่อนเพื่อให้การเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ต้นปี 58 โดยในช่วง 3 เดือนปลายปี 57 นี้ (ต.ค.-ธ.ค.) จะเป็นการดำเนินการเรื่องสำรวจออกแบบ เวนคืนที่ดิน (ใช้งบประมาณ) และสรุปรูปแบบการลงทุนก่อสร้าง (ใช้เงินกู้ หรือร่วมทุนเอกชน PPP)” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ส่วนปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประ เทศไทย (รฟม.) นั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ได้เร่งรัดให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งปัญหาการเวนคืน ความซ้ำซ้อนระหว่าง รฟม. กับกรุงเทพมหาคน (กทม.) หรือกับหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมเอง เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่ได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จมานานแล้ว แต่กระทรวงฯยังไม่เสนอ ครม. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ยังมีปัญหาการเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างบริเวณแยกบางพลัด และสามแยกไฟฉาย เนื่องจากพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างของ กทม.

รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ยังมีปัญหาสัญญาที่3 (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณคลองไผ่) ซึ่งบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE เป็นผู้รับเหมา กรณีการผลิตโครงสร้างเหล็กหลังคาและขาด แคลน แรงงานฝีมือ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการลงทุนระบบขนส่งทางบกนั้นมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลง 2% จากปัจจุบัน 15.2 % ให้เหลือ 13% ขนส่งสินค้าทางรางจาก 2.5% เป็น 5 % ลดสัดส่วนการเดินทางระหว่างจังหวัดด้วยรถยนต์ส่วนตัวลงจาก 59% เหลือ 40% ซึ่งจะต้องมีการจัดรถขนส่งมวลชน และรถสาธารณะให้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยจะมีการซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในปัจจุบันให้มีมาตรฐานแข็งแรง มีการปรับเปลี่ยนไม้หมอนเก่าเป็นหมอนคอนกรีต สร้างมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อป้องกันเหตุรถไฟตกราง และก่อสร้างเส้นทางเพิ่มในจุดคับคั่ง แออัด ลดเวลาในการจอดรถสับหลีก เพื่อเพิ่มความเร็วของรถไฟ ในส่วนของการขนส่งสินค้า จากเฉลี่ย 39-40กม./ชม. เป็น 50-55-60 กม./ชม. ส่วนผู้โดยสารเพิ่มความเร็วจาก 50 -60กม./ชม เป็น 100 กม./ชม.

พล.อ.อ.ประจินกล่าวถึงการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล MRT ว่า บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้รับสัมปทาน ได้ทำหนังสือยืนยันตรึงอัตราค่าโดยสารเดิมออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จึงจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาสัมปทานที่ได้กำหนดไว้ โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมและผู้เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

ทั้งนี้ การเจรจาตรึงค่าโดยสารครั้งนี้จะไม่มีผลต่อการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร ซึ่งหลักในการพิจารณา คือ ประชาชนต้องได้รับความสะดวกในการใช้บริการ หากนำ2 เรื่องมาเชื่อมโยงกันจะทำให้งานไม่สำเร็จ และประชาชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น