ปลัดพลังงานย้ำภาคใต้ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณก๊าซฯ ไม่เพียงพอต้องนำเข้าแอลเอ็นจีที่แพง ไม่เหมาะสม หนุนตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว โรงแรมมีความต้องการใช้ขยายตัวถึงร้อยละ 10 ต่อปี โดยกำลังผลิตไฟฟ้ารวมในภาคใต้มีประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ ความต้องการใช้อยู่ที่ 2,600 เมกะวัตต์ ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลางถึงร้อยละ 16
จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ พร้อมๆ กับการเดินหน้าโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่พลังงานทดแทน โดยโรงไฟฟ้าใหม่พลังงานหลัก จำเป็นต้องใช้ถ่านหินนำเข้า เพราะก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ หากนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้มีราคาแพงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับถ่านหินนำเข้า
ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนั้นเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่าป้องกันมลพิษได้ และการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนเมื่อเร็วๆ นี้ทุกประเทศก็จะผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดเพื่อนำมาใช้ในอนาคตมายิ่งขึ้น
นายอารีพงศ์กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์จะเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ไม่สร้างมลพิษ ซึ่งก่อสร้างในพื้นที่เดิมที่เคยเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินมาก่อน และการก่อสร้างใหม่นี้ก็อยู่ในระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งจะต้องทำ 3 ครั้งก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) โรงไฟฟ้าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเข้าระบบในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (26 ก.ย.) กลุ่มองค์กรเอกชนและประชาชนบางส่วนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ที่จะเป็นพื้นที่นำเข้าถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ครั้งที่ 3 (ค.3) ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชี้แจงมาตรการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกัน การแก้ไขผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและการยอมรับจากชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป