“ณรงค์ชัย” เรียกผู้บริหารกระทรวงมอบนโยบายและถกเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) เผยงานด่วนด่านแรกจับตาปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีขนส่ง และ NGV ขณะที่ “กฟผ.” เล็งหารือประเด็นเจรจารัฐมนตรีพลังงานอาเซียน
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเรียกผู้บริหารกระทรวงพลังงานเพื่อมอบนโยบายและรับฟังสรุปการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในสังกัด รวมถึงการหารือข้อเร่งด่วนของแต่ละหน่วยงานด้วย
สำหรับการปรับโครงสร้างราคาก๊าซก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องรอการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานตัดสินใจพิจารณาว่าจะดำเนินการปรับอย่างไร ทั้งแอลพีจีภาคขนส่ง ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV ส่วนการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำไว้ส่วนของ NGV ที่เหมาะสมจะต้องปรับไปสู่ระดับ 15 บาทต่อ กก.
“ทิศทางก็ต้องให้สะท้อนต้นทุนโดยเฉพาะแอลพีจีขนส่งที่ยังต่ำกว่าครัวเรือน ขณะที่ NGV เองก็ต้องดูราคาที่ต้นทุนเพื่อให้ บมจ.ปตท.ขยายปั๊มได้” นายชวลิตกล่าว
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) รมว.พลังงานได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงเพื่อมอบนโยบาย โดย กฟผ.จะมีรายงานโครงการลงทุนที่ได้อนุมัติแล้วคือ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 4-7 ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม โครงการระบบสายส่งภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ พร้อมกันนี้ จะหารือประเด็นที่จะนำไปเจรจาในเวทีการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน
ทั้งนี้ ล่าสุด กฟผ.และสำนักงานการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กศน.) ร่วมกันจัดทำหนังสือการเรียนการสอน รายวิชาเลือก “การใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงาน สำหรับหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 สำหรับใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วยเนื้อหา 4บท ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ประโยชน์และผลกระทบของพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน การใช้และการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้า ตามรหัสวิชา พว02027 จำนวน 3 หน่วยกิต 120 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับครู ประกอบด้วยแผนจัดการเรียนรู้ จำนวน 40 แผน ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงวิธีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน