ไซเตสขีดเส้นตายภายใน 30 ก.ย.นี้ไทยต้องยื่นเสนอแผนปฏิบัติการงาช้างของชาติ เน้นมีกฎหมายควบคุมการค้างาช้าง จดทะเบียนผู้ค้า และมีระบบติดตามที่ตรวจสอบได้ “พาณิชย์” เผยล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้กฎหมายรับมือแล้ว พร้อมวอนผู้ประกอบการร่วมมืออย่าซื้ออย่าขายงาช้างที่ไม่ถูกต้อง เผยหากทำไม่ทันเดดไลน์ มี.ค. 58 สินค้าที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์ถูกแบน
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสได้มีการประเมินผลการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาไซเตสในเรื่องงาช้างของไทย ซึ่งไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่น่ากังวลอย่างมาก (Primary Concern) และได้กดดันให้ไทยมีการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้มากกว่าประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยมีกำหนดให้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการงาช้างของชาติ (National Ivory Action Plan) เพื่อยื่นต่อเลขาธิการอนุสัญญาไซเตสภายในวันที่ 30 ก.ย. 2557
โดยตามขั้นตอน หลังจากยื่นแผนปฏิบัติการแล้วไทยจะต้องรายงานความก้าวหน้า (progress report) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการครั้งแรกภายในวันที่ 15 ม.ค. 2558 และยื่นรายงานความก้าวหน้าอีกครั้งภายในวันที่ 31 มี.ค. 2558 ซึ่งคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสจะประเมินผลการดำเนินการของประเทศไทยร่วมกับเลขาธิการอนุสัญญาไซเตส หากผลที่ออกมาไม่เป็นที่พอใจก็สามารถให้คำแนะนำการลงโทษประเทศไทยตามความเหมาะสมต่อไป
“ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาไซเตส หากไทยไม่สามารถดำเนินการตามคำแนะนำล่าสุดของคณะกรรมการบริหารไซเตสเพื่อแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลภายในเดือน มี.ค. 2558”
น.ส.ชุติมากล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเร่งรัดการจัดทำและแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมให้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะภายใต้อนุสัญญาไซเตส แม้ไทยจะสามารถค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างได้ แต่จำกัดเฉพาะการค้าในประเทศสำหรับงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากช้างบ้านอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้อง รวมทั้งห้ามการค้างาช้างป่าหรืองาช้างแอฟริกาโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อยากจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยว ในการสนับสนุนไม่ให้มีการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากช้างบ้านในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งการห้ามพกพางาช้างหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้างไม่ว่าจะได้มาจากงาช้างที่ถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ติดตัวเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด
สำหรับแผนปฏิบัติการที่ไทยต้องดำเนินการตามไซเตสมี 3 เรื่อง คือ 1. การออกกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้กฎหมายสัตว์ป่า เพื่อให้สามารถควบคุมการค้างาช้างในประเทศและการครอบครองงาช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีบทกำหนดโทษที่เข้มงวดกับผู้ที่ครอบครองงาช้างโดยผิดกฎหมายหรือค้างาช้างในประเทศอย่างผิดกฎหมาย 2. การออกกฎหมายที่กำหนดให้มีระบบการจดทะเบียนงาช้างในประเทศ (domestic ivory) อย่างครบวงจร (a comprehensive registration system) กำหนดให้มีระบบการจดทะเบียนและออกใบอนุญาต (licensing) ให้แก่ผู้ค้างาช้าง (ivory traders) ที่มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมายและบทกำหนดโทษในกรณีของการกระทำผิดกฎหมาย และ 3. การเพิ่มความพยายามในการติดตามและควบคุมผู้ค้างาช้างและข้อมูลงาช้าง (ivory data) ในการบังคับใช้กฎหมายต่อการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดของการดำเนินการด้วย
ส่วนมาตรการสูงที่สุดที่ประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตสเคยถูกลงโทษ คือ การคว่ำบาตรการค้าขายเชิงพาณิชย์ของสินค้าทุกประเภทที่อยู่ในความควบคุมของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งการถูกลงโทษนอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศในวงกว้างแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญมากฉบับหนึ่งของโลก
อนุสัญญาไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora - CITES) เป็นอนุสัญญาด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม อันทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ได้ วิธีการอนุรักษ์กระทำโดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลก ในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ โดยใช้ระบบใบอนุญาต (Permit) โดยสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) นำผ่าน (Transit) และส่งกลับออกไป (Re-Export) ทั้งนี้ อนุสัญญาไซเตสไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น (Native Species)
ประเทศภาคีอนุสัญญารวมทั้งไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามที่สำคัญ คือ ต้องกำหนดมาตรการมิให้มีการค้าสัตว์ป่า พืชป่าที่ผิดระเบียบอนุสัญญาฯ โดยมีมาตรการลงโทษผู้ค้า ผู้ครอบครอง ริบของกลางและส่งของกลางกลับแหล่งกำเนิด กรณีที่ทราบถึงถิ่นกำเนิด ต้องตั้งด่านตรวจสัตว์ป่า พืชป่าระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า พืชป่า และการขนส่งที่ปลอดภัยตามระเบียบอนุสัญญาฯ ต้องส่งรายงานประจำปี (Annual Report) เกี่ยวกับสถิติการค้าสัตว์ป่า พืชป่าของประเทศตนต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาฯ ต้องจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการ (Management Authority) และคณะทำงานฝ่ายวิทยาการ (Scientific Authority) ประจำประเทศ เพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่า พืชป่า และมีสิทธิเสนอขอเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์ในบัญชี Appendix I-II-III ให้ประเทศภาคีพิจารณา