xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เข้มจับผู้ค้างาช้างขึ้นทะเบียน เผยไชเตสขู่คว่ำบาตรการค้า หากไม่จัดระเบียบก่อนเส้นตาย มี.ค.58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” คุมเข้ม จับมือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดระเบียบผู้ค้างาช้างในไทย จับขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย นำร่องจตุจักร ท่าพระจันทร์ หลังพบเป็นพื้นที่ค้างาช้างจำนวนมาก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น เผยไชเตสขู่หากไม่เร่งแก้ปัญหาลักลอบค้างาช้างก่อนเส้นตาย มี.ค.58 เจอคว่ำบาตรแน่ สินค้าส่งออกกว่า 3 พันล้านเสี่ยงเสียหาย

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งจัดระเบียบผู้ค้างาช้างในประเทศไทยให้เป็นระบบ พร้อมดำเนินการขึ้นทะเบียนบัญชีผู้ค้างาช้างของไทยให้เป็นปัจจุบันที่สุด หลังพบว่าไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศ ที่ถูกจับตาเป็นพิเศษเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบค้างาช้าง และนอแรดแบบผิดกฎหมาย รวมทั้งเป็นแหล่งค้างาช้างที่สำคัญระดับโลก

“กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และมองว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไข จึงได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมลงพื้นที่ค้างาช้างสำคัญทั่วประเทศเพื่อทำความเข้าใจ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ประกอบการค้างาช้างทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะเชิญเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการค้างาช้างในพื้นที่ด้วย”

โดยในเบื้องต้น เตรียมลงพื้นที่นำร่องในเขต ได้แก่ ตลาดนัดสวนจตุจักร และท่าพระจันทร์ เป็นลำดับแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการค้างาช้างเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น จะทยอยลงพื้นที่ในเขตอื่นๆ และในส่วนภูมิภาคต่อไป

ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ประกอบการค้างาช้างที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ และไม่จัดทำบัญชีให้ถูกต้อง เพราะตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับงาช้าง ได้แก่ โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์ ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ และตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างทั้งบุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีให้ถูกต้อง โดยผู้ประกอบการค้างาช้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะถูกดำเนินคดี พร้อมเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด

น.ส.ผ่องพรรณ กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (ไซเตส) กำหนดให้ “ช้าง” เป็นสัตว์ป่าที่ถูกควบคุมในบัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ห้ามค้าในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ทำการศึกษาวิจัย เพาะพันธุ์ การส่งออกจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่นำเข้าเสียก่อน

ดังนั้น การที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ 1 ใน 8 ประเทศว่า มีส่วนต่อขบวนการค้างาช้าง และลักลอบขายงาช้างผิดกฎหมาย รวมถึงไม่มีผลงานในเชิงบวกที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายในการควบคุมการลักลอบค้างาช้างอย่างเข้มงวด อาจทำให้ประเทศไทยถูกนานาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าสินค้าเชิงพาณิชย์ทุกประเภทที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของไซเตส เช่น กล้วยไม้ หนังสัตว์เลื้อยคลานและหนังฟอก (หนังงู และหนังจระเข้) ไม้หายาก เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อการส่งออก และนำเข้าสินค้าของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ไซเตสกำหนดเส้นตายให้ไทยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2558 มิฉะนั้นจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด คือ การคว่ำบาตรสินค้าของไทย

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2556 ไทยมีการส่งออกสินค้าเชิงพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของไซเตส มูลค่า 3,318 ล้านบาท (103.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลงจากปี 2555 จำนวน 22 ล้านบาท (0.70 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 0.67 โดยสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กล้วยไม้ 2.หนังสัตว์เลื้อยคลาน (รวมหนังงู และหนังจระเข้) และ 3.หนังฟอกที่จัดทำเพิ่มเติมภายหลังการฟอก หรือครัสติ้ง

นอกจากนี้ มีการนำเข้าสินค้าเชิงพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของไซเตส มูลค่า 450 ล้านบาท (14.06 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 161 ล้านบาท (5.02 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 55.53 โดยสินค้า ที่นำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.หนังสัตว์เลื้อยคลาน (รวมหนังงู และหนังจระเข้) 2.คาเวียร์ (ไข่ปลา) และ 3.พืชมีชีวิตอื่นๆ กิ่งชำ กิ่งตอน และส่าเห็ด (รากเล็บครุฑ ตัวสับปะรดสี เมล็ดกระบองเพชร โป๊ยเซียน พืชกินแมลง)

ในปี 2556 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเชิงพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้ความควบคุมของไซเตสมากกว่าการนำเข้าสินค้า จำนวน 2,868 ล้านบาท (89.64 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลงจากปี 2555 จำนวน 183 ล้านบาท (5.72 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 6


กำลังโหลดความคิดเห็น