xs
xsm
sm
md
lg

“อารีพงศ์” มอบสถาบันปิโตรเลียมฯ ศึกษาจัดระเบียบหัวจ่ายน้ำมันหลังพบมีมากเกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อารีพงศ์” เผยมอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมฯ ศึกษาชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายตามปั๊มน้ำมันปัจจุบันว่าควรจะยุบชนิดใดหรือไม่ หลังพบมีมากจนทำให้สับสน ขณะที่ผู้ค้าเอทานอลเตรียมตบเท้าพบ “ณรงค์ชัย” ขอทิศทางนโยบายพลังงานทดแทนแบบชัดๆ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยทำการศึกษาชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันของไทยในปัจจุบันว่าควรจะจัดระเบียบอย่างไรให้เหมาะสมต่อการใช้และการเดินหน้าพัฒนาแผนพลังงานทดแทนในระยะยาว ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในปั๊มน้ำมันของไทยมีจำนวนหัวจ่ายที่มากเกินไป

“ผมเห็นว่าเวลานี้ในปั๊มน้ำมันเวลาไปเติมทีก็สับสน เพราะชนิดน้ำมันมีมากเกินไป ที่ต่างประเทศไม่เคยเห็นว่ามีขนาดนี้เลย คงต้องรอการศึกษาว่าจะออกมาอย่างไร เราเองก็จะต้องมาดูว่าชนิดใดใช้เยอะก็ควรจะส่งเสริม โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ที่เกี่ยวกับเอทานอลซึ่งเป็นเป้าหมายของพลังงานทดแทน แต่การจะยกเลิกสิ่งสำคัญคือจะต้องไม่กระทบต่อผู้ใช้ด้วย” นายอารีพงศ์กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าและผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า เร็วๆ นี้สมาคมฯ จะเข้าพบนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความชัดเจนถึงนโยบายพลังงาน เนื่องจากนโยบายเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องกำหนดว่าไทยจะเดินไปสู่การใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลให้น้อยลงและมีเป้าหมายที่แน่นอน ดังนั้นการเดินหน้าพลังงานทดแทนก็จะง่ายขึ้น

“การจัดระเบียบชนิดน้ำมันไม่ยาก อยู่ที่นโยบายว่าคุณจะไปทางไหน ถ้าจะเน้นแก๊สโซฮอล์ ภาพรวมก็อาจจะยกเลิกเบนซิน 95 หรือแก๊สโซฮอล์ 91 ชนิดใดชนิดหนึ่งออกไป หรืออีกทางจะก้าวไปสู่อี 20 เลย หัวจ่ายก็จะเหลือแค่เบนซิน 95, อี 20, อี 85 และก็ดีเซล แค่ 4 หัวจ่ายก็พอ” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันนโยบายการกำหนดราคาดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และยังมีการลดภาษีสรรพสามิตไปถึง 5 บาทต่อลิตร นับเป็นราคาที่ต่ำและมีการดูแลคนที่ใช้กลุ่มนี้มากเกินไปหรือไม่ ทำให้เกิดการใช้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันมีการใช้ดีเซลสูงถึง 60 ล้านลิตรต่อวัน โดยรถยนต์บ้านหันมาใช้มากขึ้นทั้งที่นโยบายนี้ถูกนำมาอ้างว่าป้องกันการขึ้นค่าขนส่งที่จะไปกระทบต่อราคาสินค้า แต่หากพิจารณาจะพบว่ารถบรรทุกส่วนใหญ่ได้หันไปใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV ที่มีราคาถูกแทน และกลุ่มนี้ก็ได้กำไรจากสิ่งนี้มาช้านานแล้วแต่กลับไม่พุดถึงการลดค่าขนส่งใดๆ สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเกิดจากนโยบายที่รัฐไปกำหนดเองทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่มีการระบุว่าเอทานอลมีต้นทุนที่แพงมากเกินไปเมื่อเทียบกับเนื้อน้ำมันเบนซินก็จะต้องเข้าใจโครงสร้างราคาเอทานอลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ส่วนใหญ่ต้นทุนจะอยู่ที่พืชเกษตรที่สำคัญ คือ กากน้ำตาล ที่มาจากอ้อยและมันสำปะหลัง หากพืชเกษตรเหล่านี้ราคาสูงก็ย่อมกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกส่วนคือค่าแปรสภาพซึ่งก็เป็นต้นทุนจริงที่เกิดขึ้นสามารถชี้แจงได้เพราะราคาเหล่านี้ทางกระทรวงพลังงานก็ควบคุมดูแลอยู่แล้ว

“คุณต้องมองอะไรที่มากกว่าจะดูแค่เพียงที่ราคา ต้องเข้าใจว่าเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่เราทำเองกับมือได้ ไม่ใช่ใช้แล้วหมดไปเหมือนฟอสซิล และยังเกี่ยวข้องกับเกษตรกร และที่สำคัญเวลาพูดกันไม่เคยมองในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จุดนี้สำคัญมากที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง” นายสิริวุทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น