xs
xsm
sm
md
lg

ปั้นแบรนด์เกาะหมาก “โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อพท.ปั้นแบรนด์เกาะหมาก “โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น” หวังสร้างการรับรู้ก่อนส่งมอบความสำเร็จของการทำงานในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เตรียมใช้แคมเปญปูพรมต่อเนื่อง คาด 3 ปีนักท่องเที่ยวรับรู้ 90%

พ.อ. ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ดำเนินโครงการ “แผนการจัดทำภาพลักษณ์” (Brand Image) ให้แก่เกาะหมาก สร้างการรับรู้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น โดยแบรนด์อิมเมจนี้ ชุมชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารทางการตลาดให้กับเกาะหมาก โดย อพท.จะใช้โครงการนี้สำหรับส่งมอบความสำเร็จของการทำงานในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อมอบแก่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อภายหลังการส่งมอบพื้นที่

“ระยะเวลา 10 ปีที่ อพท.เข้าไปพัฒนาพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งรวมพื้นที่เกาะหมากด้วย เราวางเป้าหมายให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้การรับรู้ของผู้บริโภคในความสำเร็จและเป้าหมายตามที่ อพท.วางไว้นั้นยังไม่เด่นชัด จึงทำให้ต้องเกิดโครงการนี้ขึ้นมา”

การดำเนินงานภายใต้โครงการ “แผนการจัดทำภาพลักษณ์” (Brand Image) เกาะหมาก มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี นับจากปีงบประมาณ 2558-2560 เป้าหมายในปีแรกสร้างการรับรู้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาะหมาก ปีที่ 2 เพิ่มการรับรู้เป็น 70% และในปีสุดท้ายเมื่อจบโครงการเพิ่มเป็น 90% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปยังพื้นที่เกาะหมาก ทั้งนี้ ตามแผนการทำงานจะสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดการรับรู้แบรนด์ “โลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น เกาะหมาก”

โดยจัดเป็นกิจกรรมออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งออนไลน์และออฟไลน์ด้วยรูปแบบการสื่อสารทั้ง Above the line Campaign และ Below the line Campaign เช่น การจัดทำสปอตวิทยุ คลิปวิดีโอเพื่อแชร์ในโซเชียลมีเดีย การจัดมีเดียแฟมทริปเชิญสื่อสำรวจพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนกิจกรรมในพื้นที่ จะทยอยจัดอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเปิดโลกพลังงาน ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2557 ณ ศาลากลางจังหวัดตราด และกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ 10,000 ต้น ภายในระยะเวลา 3 ปี ของการดำเนินงาน

“ระยะแรกเราจะเน้นสร้างการรับรู้ให้กับคนในพื้นที่และคนไทยภายในประเทศ จากนั้นจึงขยายสู่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยจะเน้นการเลือกใช้สื่อบุคคล ทำการตลาดสร้างการรับรู้ผ่านบล็อกเกอร์ชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียง”

ส่วนแผนกิจกรรมโปรโมตให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาะหมาก เช่น ปั่นจักรยานตามเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางแล่นเรือใบ และการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นเมนูท้องถิ่นซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการขนส่งวัตถุดิบ

อย่างไรก็ตาม อพท. โดยสำนักบริหารยุทธศาสตร์ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนคาร์บอนต่ำ “ชุมชนเกาะหมาก พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง” ดำเนินการจัดเก็บปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยเก็บข้อมูลจากสถานประกอบการ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ที่พักเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว การขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว การบริการเพื่อการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2557 ในพื้นที่เกาะหมาก พบว่าปลดปล่อย Carbon เท่ากับ 1,451,201.95 KgCO2 ต่อปี แต่หลังจากการดำเนินการตามมาตรการลดภาวะโลกร้อนของ อพท. ใน 10 เดือนต่อมาของปีงบประมาณ 2557 สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ 327,194.91 KgCO2 ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 24.07 โดยข้อมูลนี้ อพท.จะใช้เป็นปีฐานสำหรับเปรียบเทียบในปีต่อๆ ไป

ทั้งนี้ ในปี 2556 เกาะหมากมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนตลอดปีรวม 130,569 คน รายได้ 851 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีจำนวน 127,528 คน หรือเพิ่มขึ้นราว 2.38% เดิมรายได้ 787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.21% โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนไทย อพท.เชื่อมั่นว่า จากแผนการสร้างแบรนด์อิมเมจให้แก่เกาะหมากนี้ จะช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวกลุ่มความสนใจเฉพาะ (นิชมาร์เกต) และเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ชื่นชอบกิจกรรมการท่องเที่ยวและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ต่างชาติได้รู้จักเกาะหมากเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น