กสอ. จับมือ ISMED พัฒนา 5 เครือข่าย สร้างเอกลักษณ์ 5 ย่านการค้าสินค้าแฟชั่นของไทย ได้แก่ จตุจักร เทอร์มินัล 21 ย่านการค้าเสื้อผ้ามุสลิมมีนบุรี สำเพ็ง และแหล่งขายผ้าไหมปักธงชัย หวังสร้างชื่อให้ต่างชาติรู้จัก และดันสู่แหล่งค้าส่งค้าปลีกสินค้าแฟชั่น ขึ้นแท่นศูนย์กลางแห่งอาเซียน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ เพราะมีบทบาทต่อการจ้างงานกว่า 2.2 ล้านคน และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้มากกว่าปีละ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด (ที่มา : สศอ.,2557) โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยจะกลับมาได้รับความนิยมตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น
ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงวางแนวทางผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน เพื่อเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เกิดการพัฒนาเหนือคู่แข่งในอาเซียนซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยวางแนวทางผลักดันเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ได้แก่สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ให้กับสินค้าของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย
ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางผลักดันโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นรูปธรรม คือ การสร้างเครือข่ายผู้ผลิตสินค้าแฟชั่น ผ่าน “กิจกรรมสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่น” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการพัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ปีงบประมาณ 2557 ดำเนินการโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) โดยเล็งเห็นว่าธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นกลุ่มที่มีการกระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังขาดการรวมตัวและเชื่อมโยงกัน อีกทั้งยังขาดผู้นำที่สามารถประสานงานช่วยเหลือสมาชิกให้เข้าใจในจุดมุ่งหมายและทิศทางพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดข้อมูลการศึกษาและต้นแบบของการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมทั้งแนวทางการพัฒนาที่ยังขาดทิศทางและไม่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวตั้งเป้าไปสู่การสร้างอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละเครือข่าย เพื่อให้เกิดการรู้จักและยอมรับในหมู่ผู้บริโภคสินค้าแฟชั่น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า กิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจรทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งในแนวตั้งจะเป็นความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และความเชื่อมโยงในแนวนอนจะเป็นการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยเติบโตยิ่งขึ้น โดยดึงจุดเด่นและสร้างคาแรคเตอร์ของแต่ละย่านการค้า เพื่อให้ต่างชาติรู้จักและรับรู้ว่าจะสามารถหาซื้อสินค้า แต่ละประเภทที่ต้องการได้ที่ย่านการค้าแห่งใด ผ่านการสร้างเครือข่าย 5 เครือข่าย จาก 5 ย่านการค้าแฟชั่นที่สำคัญ ได้แก่
1. ย่านการค้าจตุจักร เป็นศูนย์รวมสินค้าสำหรับทุกเพศทุกวัย ทั้งชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเสื้อผ้า เครื่องหนังและเครื่องประดับ ที่ชื่นชอบในงานรูปแบบ สตรีท อาร์ท แฟชั่น (Street Art Fashion) นอกจากการจำหน่ายแล้วที่ย่านการค้าจตุจักรยังมีการออกแบบและการผลิตอย่างครบวงจร
2. ย่านการค้าเทอร์มินัล 21 (Terminal 21) เป็นศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพมหานครที่รวบรวมเอาสินค้าแบบมาร์เก็ต สตรีท (Market Street) จากทุกมุมโลกมาไว้ในที่เดียว โดยการผสมผสานแฟชั่นที่หลากหลายกว่า600 ร้าน ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการแบรนด์ไทยที่มีสไตล์โดดเด่นมีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพซึ่งสามารถอวดสู่สายตาของคนทั่วโลกได้
3. ย่านการค้าเสื้อผ้ามุสลิม มีนบุรี เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าของชาวมุสลิมซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และชุดที่ใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวันทั้งชายและหญิง ที่จะเติบโตในอนาคต
4. ย่านการค้าสำเพ็ง เกิดจากการรวมกลุ่มเครือข่ายสมาคมพ่อค้าผ้าในพื้นที่สำเพ็ง ภายใต้ “สมาคมพ่อค้าผ้า แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นย่านการค้าที่รวบรวมผู้ผลิตและจำหน่ายผ้า และส่วนประกอบเพื่อการผลิตเครื่องแต่งกายที่มีรูปแบบหลากหลาย พร้อมตอบสนองทุกการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่น
5. ย่านการค้าผ้าไหมปักธงชัย เป็นแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของทั้งหมด ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการผลิตผ้าไหมสูงสุดในภาคอีสาน โดยมุ่งพัฒนา ชุดผ้าไหมให้มีความทันสมัยและสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจของตนให้อยู่รอดและเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนภายใต้การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง โดยที่ผ่านมา ISMED ได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ SMEs ด้านต่าง ๆ มาแล้วกว่า 15,000 กิจการ
สำหรับกิจกรรมสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้น มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นมีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน พัฒนาความร่วมมือ เชื่อมโยงเครือข่ายที่มีศักยภาพ และเสริมสร้างอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างจุดแข็งในการพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบและการตลาด ปรับตัวจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การเป็นผู้ออกแบบสินค้า และมีตราสินค้าของตัวเอง รวมทั้งยกระดับตำแหน่งทางการตลาดให้เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพระดับกลางและสูง ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าสร้างเครือข่ายด้วยการสร้างความคุ้นเคยในกลุ่มเพื่อผลักดันให้เกิดการรวมตัวกัน 5 เครือข่าย จาก 5 ย่านการค้า สร้างสมาชิกในเครือข่ายกว่า 75 กิจการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 30 ต้นแบบ เครือข่ายละไม่น้อยกว่า 6 ต้นแบบ ซึ่งจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มอีกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 75 ราย
ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกของอุตสาหกรรมแฟชั่น 3 สาขาหลัก ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 3,095.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.65 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 ด้านการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 4,540 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 49.48 จากปีก่อน และการส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าและเครื่องหนัง มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 758.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2556
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *