xs
xsm
sm
md
lg

อพท.ติดอาวุธผู้ประกอบการ-ชุมชน รับศึก AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเปิด AEC ที่กำลังจะมาถึงในปลายปีหน้า จะมีผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ก่อเกิดรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในทางกลับกัน AEC ก็ส่งผลให้เกิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานและการลงทุนจากชาติสมาชิกอาเซียนในด้านการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน หากแรงงานด้านการท่องเที่ยวของไทยไม่มีศักยภาพ หรือมีฝีมือแรงงานที่ด้อยกว่าชาติสมาชิกอื่นๆ แม้นักท่องเที่ยวจะมาเยือนประเทศไทยจำนวนมากขึ้น แต่เม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวอาจไม่ตกอยู่กับแรงงานคนไทยเท่าที่ควร ไม่คุ้มค่ากับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรท่องเที่ยว

พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2557 อพท.จะทำงานเชิงรุกเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และชุมชนในพื้นที่พิเศษเพื่อเตรียมพร้อมการเปิด AEC โดยในภาพรวมให้ทุกพื้นที่พิเศษเชิญชวนสถานประกอบการที่พักเข้าร่วมโครงการสถานประกอบการสีเขียว โดยต้องดำเนินการตามมาตรฐานใน 4 มาตรการลดภาวะโลกร้อน ประกอบด้วย 1. การจัดการน้ำเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 2. การจัดการขยะ 3. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 4. การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายภายในสิ้นปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 32 แห่ง หรือเฉลี่ยพื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 6 แห่ง ยกเว้นพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งมีเป้าหมาย 2 แห่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก

ดึงผู้ประกอบการที่พักเข้า “โครงการสีเขียว”***

สำหรับเกณฑ์ใน 4 มาตรการลดภาวะโลกร้อน อพท.จัดทำขึ้นภายใต้การยอมรับของสถานประกอบการที่พัก และ อพท.ยังได้ผลักดันให้ทั้ง 4 มาตรการดังกล่าวได้การรับรองมาตรฐานจากมูลนิธิใบไม้เขียว เพราะจะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้บริการมากขึ้น เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ

“เราจะใช้เกณฑ์ใน 4 มาตรการดังกล่าวพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ อพท.ร่วมดำเนินการกับมูลนิธิใบไม้เขียว จึงมั่นใจว่าจุดนี้จะช่วยสร้างให้เกิดมาตรฐานการบริหารจัดการ และนำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งด้านการลดต้นทุน และด้านภาพลักษณ์การบริการ”

ด้านแหล่งท่องเที่ยว อพท.เตรียมปรับเกณฑ์มาตรฐานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์การท่องเที่ยว เน้นการสร้างจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม การลดภาวะโลกร้อน และการสร้างประสบการณ์จากการเดินทางท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่น โดยให้ชุมชนต้นแบบในพื้นที่พิเศษได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตาม 5 เกณฑ์มาตรฐานการรับรองแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1. ด้านการจัดการอย่างยั่งยืน 2. ด้านการกระจายผลประโยชน์สู่ท้องถิ่น สังคม คุณภาพชีวิต 3. ด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม 4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และ 5. ด้านการบริการและความปลอดภัย

ทำแอปพลิเคชันให้ความรู้นักท่องเที่ยว

ผู้อำนวยการ อพท.กล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ซึ่งวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเมืองมรดกโลกอาเซียน ล่าสุดได้จัดทำแอปพลิเคชัน “Creative Journey” ในลักษณะของแพลตฟอร์ม เป็นช่องทางให้ผู้ใช้และผู้ให้บริการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลระหว่างกันผ่านระบบนำทางอย่างป้ายสัญลักษณ์ QR ระบบ Social Networking เข้ามาเสริม มีข้อมูลบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภาพประกอบ และเสียงบรรยาย เพื่อใช้ในแอปพลิเคชัน โดยข้อมูลที่จะนำมาเริ่มใช้งานมีการแบ่งกลุ่ม/ประเภท โบราณสถาน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชุมชน ธรรมชาติ มีพันธมิตร ได้แก่ Agoda และ Wongnai ที่สำคัญคือ แอปพลิเคชันนี้ยังเป็น GPS นำทางท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย โดยเร็วๆ นี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นยังได้ภาคีอย่าง UNESCO ร่วมกันจัดทำโครงการพัฒนาภาษาให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นไกด์นำเที่ยวท้องถิ่น และยังได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) พัฒนาตราสินค้า (Branding) สุโขทัย ให้เป็นที่ยอมรับเรื่องการเป็นศูนย์กลางเมืองมรดกโลกอาเซียน

พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาจัด 4 โครงการเพิ่มขีดความสามารถ

ในส่วนของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา จัดทำ 4 โครงการ รวม 4 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 โครงการอบรม และ 2 โครงการพัฒนา ประกอบด้วย โครงการอบรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการ โดยดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย และโครงการอบรมผู้ประกอบการเดินเรือบริการ พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยสู่ระดับสากล โดยร่วมกับกรมเจ้าท่าและเมืองพัทยา นำร่องจัดอบรมผู้ประกอบการเดินทาง 500 คน ส่วนโครงการพัฒนา ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพศูนย์อาหารฮาลาลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม และโครงการพัฒนาศูนย์แนะนำการเรียนรู้ภาษาอาเซียน สำหรับพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง อพท.ได้ร่วมกับ ISMED ทำตราสินค้า (Branding) ให้แก่พื้นที่แห่งนี้ สร้างการรับรู้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ โลว์คาร์บอน เดสติเนชัน

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท.ยังมีอีกหลายแห่งที่เป็นเขตติดต่อชายแดน เช่น อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ซึ่ง อพท.มีแผนจะเข้าไปอบรมและสร้างความพร้อมให้แก่ชุมชน และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น