“ปฏิมา จีระแพทย์” ผอ.สสว.คนใหม่ เผยวิสัยทัศน์ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ตั้งเป้าผลักดัน GDP SMEs ทะลุ 40% จาก GDP รวมของประเทศ ขอเวลาศึกษาแนวทาง 6 เดือน ด้านนโยบายมุ่งเน้นการทำงานประสานหน่วยงานรัฐและเอกชน เตรียมจัดตั้ง SMEs Center รองรับเป็นศูนย์กลางอาเซียน AEC ชี้แผนปี 57 ตั้งเป้ายกระดับ SMEs เก่า-ใหม่กว่า 11,000 ราย สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 620 ล้านบาท
นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงเป้าหมาย และแผนงานหลังเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริม SMEs ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องผลักดันการเติบโตด้าน GDP ของ SMEs จากเดิมตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา GDP ของ SMEs เมื่อเทียบกับ GDP โดยรวมอยู่ที่ 37% ไม่เกิน 38% ดังนั้น แนวทางหลังเข้ารับตำแหน่ง ตั้งเป้าผลักดัน GDP SMEs จะต้องขึ้นไปถึง 40% ให้ได้ ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาแนวทางไม่เกิน 6 เดือน และเมื่อถึงเวลานั้นจะสามารถบอกได้ว่า GDP ของ SMEs จะถึง 40% ได้เมื่อใด
สำหรับแนวทางการผลักดันให้ SMEs เติบโตไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะที่ผ่านมา รายได้โดยรวมของ SMEs เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด แต่ที่ตัวเลขการเติบโต GDP ไม่เพิ่ม เพราะการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่โดยรวมนั้นมีการเติบโตค่อนข้างสูงมากกว่า จึงทำให้เปอร์เซ็นตัวเลข GPD ของ SMEs ไม่ขยับ โดยปัจจุบัน SMEs ส่วนใหญ่จะมาจากภาคการค้า 80% ภาคบริการ 43% และภาคการผลิต 33% ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะไปขยายในส่วนของภาคบริการ และภาคการผลิตให้มากขึ้นเพื่อผลักดันการเติบโตโดยรวมของ SMEs
สำหรับนโยบายและทิศทางการส่งเสริม SMEs ในปี 2557 นั้นยังคงมุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อการทำงานประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของการประสานงานภาครัฐ จะมีการแบ่งงานดูแล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดูแลด้านการผลิต และในส่วนของ สสว.จะเข้ามาดูแลด้านการค้า และบริการ เป็นการทำงานประสานกับทางกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น ในการผลักดัน SMEs ให้มีโอกาสไปต่างประเทศมากขึ้น
“สสว.จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา SMEs ให้มีคุณภาพที่ดี สามารถขยายตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยจะประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับ SMEs และ OTOP ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น และได้ประสานกับกลุ่มผู้ค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น 7-Eleven แม็คโคร เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ฯลฯ เพื่อทำช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ และพัฒนาปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่จะช่วยให้ SMEs ดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผอ.สสว.กล่าว
ในส่วนของ OTOP เน้นยกระดับ OTOP สู่ SMEs โดยมีการแบ่งงานระหว่างกรมพัฒนาชุมชน กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในส่วนของ สสว.จะเข้ามาดูในส่วนของ OTOP PLUS เป็นโครงการยกระดับ OTOP ก้าวไปสู่ SMEs โดยในปี 2557 ทาง สสว.ได้รับงบประมาณ จำนวน 838 ล้านบาท ยังไม่รวมงบกองทุนที่ สสว.จะต้องพิจารณาแจกจ่ายไปยังผู้ขอเข้ามา
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวมีโครงการที่จะดำเนินการอยู่หลายโครงการ อาทิ การจัดตั้ง SMEs Center เพื่อรองรับการที่ SMEs ไทยจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน AEC ในส่วนของ OTOP ร่วมกับโมเดิร์นเทรด และคอนวีเนียนสโตร์จัดทำ Corner OTOP และติดต่อผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนและแก้ปัญหาด้านลอจิสติกส์อีกทางหนึ่ง และยังมีโครงการอบรมให้ความรู้ต่างๆ
นอกจากนี้ การจัดตั้ง SMEs Center โดยบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านการอบรมให้ความรู้ การส่งเสริมด้านการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ประจำสัปดาห์ และจะร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น และจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านโครงการต่างๆ ที่ สสว. ดำเนินการ เช่น การชดเชยดอกเบี้ย โครงการ Machine Fund เป็นต้น
ส่วนการขยายโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศ สสว.จะประสานกับหน่วยงานด้าน SMEs รวมถึงสภาหอการค้าในต่างประเทศ ทั้งกลุ่มประเทศสมาชิก AEC กลุ่ม ASEAN+6 กลุ่ม APEC SMEs รวมถึงกลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา SMEs รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้า-การลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยล่าสุด สสว.ได้ประสานกับหน่วยงานด้าน SMEs ของประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เยอรมนี แอฟริกา ฯลฯ ในการดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ดังกล่าว
“ในปี 2557 สสว.ตั้งเป้าว่าจะสามารถพัฒนา เพิ่มศักยภาพ SMEs ไม่น้อยกว่า 11,000 ราย ขยายโอกาสทางการตลาดไม่น้อยกว่า 620 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 2,100 ผลิตภัณฑ์ สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 18 กลุ่มจังหวัด 21 เครือข่าย ในประเทศและต่างประเทศ”
นายปฏิมากล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ว่า ที่ผ่านมา สสว.มีบทบาทหน้าที่เข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs มาโดยตลอด ซึ่งต้องยอมรับว่า SMEs เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ซึ่งทาง สสว.คงจะต้องอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาเข้ามาบูรณาการช่วยเหลือ และแนวทางการส่งเสริม SMEs คงมุ่งเน้นให้ SMEs รู้จักวางแผนรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้ล่วงหน้าด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *