xs
xsm
sm
md
lg

เร่งโด๊ปแกร่ง SMEs คว้าโอกาสธุรกิจปลาดิบจ่อลงทุนอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล  นางสาวเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด และรศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์    (จากขวามาซ้าย) ร่วมแถลงความร่วมโครงการเชื่อมโยงและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญี่ปุ่น
3 หน่วยงานจับมือเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีไทยคว้าโอกาสจากนโยบายกระตุ้น ศก.ของรัฐบาลญี่ปุ่น หรือ “อาเบะโนมิกส์” ผลักดันธุรกิจแดนปลาดิบย้ายฐานผลิตมายังกลุ่มอาเซียน ระบุเกิดประโยชน์ทั้งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และขยายตลาดการค้า ตั้งเป้าเกิดการจับคู่ธุรกิจไม่ต่ำกว่า 100 รายต่อปี สร้างมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ สสท. กล่าวว่า จากที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน หรือ “อาเบะโนมิกส์” หนึ่งในนโยบายหลักคือ ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีญี่ปุ่นขยายการลงทุนไปยังประเทศแถบอาเซียน โดยมีเป้าให้ลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียน จำนวน 50,000 รายภายใน 5 ปี ส่วนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 รายภายใน 5 ปีเช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2557

จากโอกาสดังกล่าว ทาง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ATSME) และ สสท. ได้ร่วมมือพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทย ทั้งด้านสร้างความรับรู้ให้แก่เอสเอ็มอีไทย และเตรียมความพร้อมให้แก่เอสเอ็มอีไทยในการทำธุรกิจหรือร่วมทุนกับเอสเอ็มอีญี่ปุ่น รองรับโอกาสจากนโยบายดังกล่าว

รศ.ดร.สุจริตเปิดเผยต่อว่า แผนการทำงานจากนี้จะเปิดคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีความสนใจ มีความพร้อมและมีศักยภาพเพื่อเข้ามาอบรมความรู้ ตลอดจนพาไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และพาพบภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเพื่อหวังให้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน

ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยที่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นมีความสนใจจะร่วมธุรกิจนั้น ประกอบด้วย กลุ่มรับจ้างผลิต ซึ่งเป็นฐานการผลิตของนักลงทุนญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่จะขยายการผลิตให้กว้างขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมกลุ่มใหม่ที่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นให้ความสนใจร่วมธุรกิจอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มบริการ สินค้าสุขภาพ และอาหารสุขภาพ ตามเทรนด์สังคมญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุ

นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวด้วยว่า ตั้งเป้าว่าจากความร่วมมือครั้งนี้ในแต่ละปีอยากให้เกิดความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างเอสเอ็มอีไทยกับญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 100 รายต่อปี ซึ่งการลงทุนของเอสเอ็มอีญี่ปุ่นแต่ละรายมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และหากเป็นไปตามเป้าของญี่ปุ่นจะเกิดการลงทุนในประเทศไทยใน 5 ปี มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

ด้านนางสาวเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายก ATSME กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เอสเอ็มอีไทยจะได้ประโยชน์อย่างสูงในด้านเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มจากค่าแรงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว แรงงานต่างด้าวค่าจ้างถูกๆ อาจกลับท้องถิ่น ซึ่งส่งผลกระทบให้เอสเอ็มอีเกิดผลกระทบขาดแคลนแรงงานมากขึ้นไปอีก จึงจำเป็นต้องนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอย่างยิ่ง การได้ร่วมธุรกิจกับญี่ปุ่น จะช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีไทยให้สามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเพื่อมาทดแทนการขาดแคลนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเอสเอ็มอีไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเองด้วยเพื่อให้สามารถเป็นพันธมิตรกับเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นได้ ซึ่งเบื้องต้นเอสเอ็มอีไทยที่จะเป็นกลุ่มนำร่องในความร่วมมือครั้งนี้คือกลุ่มข้าวอินทรีย์ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง

ด้านนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า ประโยชน์ของความร่วมมือครั้งนี้จะเกิดแก่เอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะได้ทั้งความรู้และเทคโนโยลีจากประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันยังได้เป็นพันธมิตรการค้า

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *

กำลังโหลดความคิดเห็น