xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้ปรับโครงสร้างการผลิตเกษตร พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าชี้ถึงจุดไทยต้องปรับโครงสร้างระบบการผลิตสินค้าเกษตรใหม่หมด พร้อมวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้ชัดเจน เนื่องจากอนาคตการแข่งขันไม่ได้สู้แค่ราคา แต่จะนำมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามากีดกันทางการค้าด้วย

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการบรรยายเรื่อง เจาะลึกได้เปรียบ: เสียเปรียบข้อตกลงการค้าในอาเซียน ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า เวลานี้ไทยต้องการผู้นำ (Leader) ที่ไม่ใช่ผู้ทำงานเก่ง (Good worker) เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะให้ประเทศไทยก้าวไป 20 ปีข้างหน้า ซึ่งไทยเป็นประเทศผลิตสินค้าเกษตร ที่ผ่านมามีการอุดหนุนราคาจากภาครัฐแต่ไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบใหม่หมด โดยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว 20 ปีออกมาให้ชัดเจนว่าอนาคตสินค้าเกษตรของไทยจะเดินไปในทิศทางใด

โดยใช้เวลา 1-2 ปีในการเขียนแผนและเริ่มดำเนินการให้เป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี เชื่อว่าหากไม่เร่งดำเนินการในช่วงนี้สินค้าเกษตรไทยจะแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากในอนาคตการแข่งขันสินค้าเกษตรจะไม่ได้สู้เรื่องราคาสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศผู้นำเข้าจะนำเรื่องมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งกำหนดถิ่นกำเนิดสินค้า คาร์บอนเครดิต เป็นต้น

รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวทางที่ คสช.ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาพืชด้านการเกษตร 4 ชนิด คือ ข้าวโพด อ้อย มันสัมปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ซึ่งถือเป็นแนวทางในการวางยุทธศาสตร์ที่ดีให้แก่สินค้าเหล่านี้ เพราะเกือบทั้งหมดเป็นพืชที่เกี่ยวข้องทางด้านพลังงาน ส่วนความพร้อมของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ภาคเอกชนไทย ที่ต้องเตรียมตัวรองรับการแข่งขันก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมประมาณ 25%

นายพรศิลป์กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรไทยหลายตัวแข่งขันไม่ได้ เพราะหลังจากไทยมีการลดอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เหลือ 0% ในปลายปี 2558 โดยที่ไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและหาแนวทางให้ภาคเกษตรและภาคเอกชนปรับตัวแข่งขัน ส่งผลให้เอกชนเสียเปรียบด้านการแข่งขัน เช่น ข้าวโพด

จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ ไทยควรนำมาเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ และอยากเสนอรัฐบาลใหม่ เรื่องแนวทางการเจรจา ตามกรอบของอาเซียนที่มี 3 เสาหลัก ทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม ว่าควรมีภาคธุรกิจเข้าไปร่วมให้ความเห็นในเสาความมั่นคง และสังคมด้วย เนื่องจากเสาหลักทั้ง 2 นี้ล้วนเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น