เอเอฟพี – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ตั้งเป้าผลักดันข้อตกลงการค้าภาคพื้นแปซิฟิกให้สำเร็จลุล่วง ระหว่างเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้
การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 12 ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราวร้อยละ 40 ของโลกยังคงประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากวอชิงตันไม่สามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลญี่ปุ่นลดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร และเปิดตลาดรถยนต์ได้
โอบามา แถลงเมื่อวานนี้(20)ว่า ตนและนายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ แห่งนิวซีแลนด์ได้หารือกันที่ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ภายในทำเนียบขาวเกี่ยวกับกรอบเวลาช้าที่สุดสำหรับการบรรลุข้อตกลงทีพีพี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นเอกสารความตกลงที่เป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีนี้
“ผมหวังว่าเมื่อเราพบกันอีกครั้งตอนที่ผมเดินทางไปเยือนเอเชียในเดือนพฤศจิกายน เราจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่ผ่านการหารือกับสภาคองเกรส และสามารถเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบได้แล้ว”
อย่างไรก็ดี โอบามา ยอมรับว่า การบรรลุข้อตกลงทีพีพียังต้องอาศัยความพยายามอีกมากพอสมควร
โอบามา จะเดินทางมาร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงปักกิ่ง รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่เมียนมาร์ และการประชุมซัมมิตกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จี20 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงปลายปีนี้
ผู้แทนเจรจาจากกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกที่พร้อมเข้าร่วม ทีพีพี จะมีการนัดประชุมกันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม
ในการหารือครั้งล่าสุดที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว บรรดารัฐมนตรีพาณิชย์ต่างเห็นด้วยให้ตั้งกรอบเวลาในการเจรจาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังไม่สามารถขีดเส้นตายสำหรับการทำข้อตกลงฉบับสมบูรณ์
อุปสรรคใหญ่ของ ทีพีพี อยู่ที่ญี่ปุ่นซึ่งไม่เต็มใจที่จะลดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร และไม่พร้อมเปิดทางให้สหรัฐฯส่งออกรถยนต์ไปยังแดนอาทิตย์อุทัย
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีตัวเลขจีดีพีรวมกันคิดเป็นร้อยละ 80 ของจีดีพีในเขตการค้าเสรีที่จะจัดตั้งขึ้น
หลายฝ่ายคาดว่า โอบามาอาจต้องเผชิญศึกหนักในการโน้มน้าวคองเกรสให้รับรองข้อตกลงทีพีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งประเด็นเขตการค้าเสรีมักเป็นที่โต้เถียงเสมอ และนี่คือเหตุผลที่ โอบามา มักจะอ้างว่า ทีพีพี เป็นโอกาสในการสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยามที่จำนวนชาวอเมริกันตกงานยังสูงลิ่ว
12 ประเทศที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วม ทีพีพี ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์, สหรัฐฯ และเวียดนาม