บอร์ดกองทุนอนุรักษ์พลังงานเคาะดึงงบจากโครงการที่ขอจบดำเนินการในปี 2557 จำนวน 2,687 ล้านบาทให้ พพ.เพื่อเร่งเครื่องแผนพลังงานทดแทนเร่งด่วนที่ก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม 6 โครงการ ทั้งการผลิตไฟจากขยะขนาดเล็กในพื้นที่กองทัพบก และอากาศ 4 เมกะวัตต์ การใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดใต้ เป็นต้น
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบให้ใช้งบประมาณจากการขอจบการดำเนินโครงการในปี 2557 มาให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินโครงการพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานที่เร่งด่วน ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นรูปธรรม จำนวน 6 ชุดโครงการ 2,687 ล้านบาท
สำหรับโครงการ เช่น โครงการต้นแบบการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะขนาดเล็ก ในพื้นที่หน่วยงานของกองทัพบก และกองทัพอากาศ โดยจัดทำโครงการนำร่อง และการบริหารจัดการขยะในชุมชน จากการสำรวจพบว่ามีหน่วยงานภายในกองทัพบกและกองทัพอากาศที่เหมาะสมและมีความพร้อมทางด้านพื้นที่ กำลังพลในการบริหารจัดการและศักยภาพด้านปริมาณของขยะ จำนวน 8 หน่วยงาน รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใช้ในชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 4 เมกะวัตต์
โครงการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทนพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย คือ (1) โครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบรถเคลื่อนที่ในฐานปฏิบัติการที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (2) โครงการพัฒนาระบบแสงสว่างด้วยชุดโคมส่องสว่างแบบแอลอีดี (LED) ประหยัดพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความสว่างในเส้นทางเพื่อความปลอดภัย (3) โครงการติดตั้งเสาไฟพร้อมโคมส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์
โครงการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่โครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการตามแนวพระราชดำริ เพื่อนำพลังงานทดแทนไปสาธิตใช้งานในพื้นที่โครงการ รวม 10 โครงการย่อย เช่น โครงการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 30 กิโลวัตต์ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ สนับสนุนโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ จ.เชียงราย และการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ สนับสนุนโครงการจัดตั้งหมู่บ้านชาวไทยภูเขาตามพระราชเสาวนีย์ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น
โครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และใช้ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้แก่ กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยได้ของบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์ฯ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์พร้อมติดตั้งระบบผลิตและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะนำไปใช้เสริมความมั่นคงในพื้นที่ 4 หน่วยงานหลัก จำนวน 33 ระบบ ขนาดกำลังการผลิตรวมไม่น้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ใช้ในหน่วยได้ประมาณ 30-70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบใช้งบดังกล่าวให้กับ พพ.วงเงิน 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ อีกด้วย เป็นต้น ซึ่งโครงการทั้งหมดจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี