PTTGC มึน! ถูกสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดฟ้องเรียกค่าเสียหายพันล้านบาท ยันผู้ได้รับความเดือดร้อนมีสิทธิ์อุทธรณ์เรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มต่อบริษัทอยู่แล้ว โดยควักเงินเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมพันล้านบาท ขอดูหมายศาลก่อนชี้แจง
นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดและผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีก 10 คน ซึ่งตนแปลกใจ เนื่องจากผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ท่อน้ำมันรั่วในทะเลจังหวัดระยองมีสิทธิ์อุทธรณ์เรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับการเยียวยาจากบริษัทฯ ไปก่อนหน้านี้ หากไม่พอใจ
ซึ่งการพิจารณาการจ่ายค่าเยียวยาต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกๆ ด้านนี้ ทางจังหวัดระยองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาบุคคล ร้านค้า เรือประมงที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายเงินให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท รวมทั้งยังมีการจ่ายเงินในการกำจัดคราบน้ำมันดิบรั่วบนชายหาดอ่าวพร้าว การฟื้นฟูปะการังและติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศวิทยาไปแล้วรวม 1 พันล้านบาท โดยมีการกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทางบริษัทฯ ขอพิจารณารายละเอียดคำฟ้องร้องก่อน ส่วนผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปในช่วงนี้คงต้องมีการพิสูจน์กัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลงไป
นายปฏิภาณกล่าวต่อไปว่า ความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณารายละเอียดว่าบริษัทประกันภัยจะชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เบื้องต้นยื่นไป 1 พันล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้รับเงินค่าประกันบางส่วน
เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นางสุจารี เจริญผล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะเสม็ด จ.ระยอง และผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประมาณ 10 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยฐานละเมิด และความผิดตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันรั่วในทะเล จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 แต่ไม่สามารถแก้ไขเก็บกู้ได้ทันทีและถูกต้อง จนมีน้ำมันบางส่วนทะลักเข้าอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2556
จนจังหวัดระยองประกาศให้เกาะเสม็ดเป็นเขตภัยพิบัติทางทะเล โดยบริษัทฯ ได้ใช้สารเคมี 2 ชนิดเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน โดยไม่แจ้งต่ออุทยานแห่งชาติ ไม่คำนึงว่าเป็นพื้นที่เขตอ่อนไหวทางธรรมชาติ ซึ่งสารเคมีที่ใช้มีผลต่อปะการัง สัตว์ทะเล ระบบนิเวศ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว จำเลยไม่เคยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพิ่มจุลินทรีย์ จัดฝึกอบรมพร้อมรับมือภัย
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จำเลยไม่เคยให้ข้อมูลการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และสุขภาพประชาชน จึงไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของจำเลยได้ ความเสียหายดังกล่าวได้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัว ยกเลิกการมาเที่ยวเกือบหมด และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงแรม ร้านค้า รถโดยสาร ผู้ค้า ซ้ำยังส่งผลเสียหายแก่แนวปะการัง ที่อ่าวปลาต้ม อ่าวน้อยหน่า จึงฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท และจัดทำแผนแก้ไขปัญหาสิ่งปนเปื้อนในระยะสั้น ระยะยาว และแผนป้องกันอุบัติภัยด้วย