ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เผยโครงการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่มัณฑะเลย์ ประเทศพม่าส่อเค้าเลื่อน หลังกฎหลักเกณฑ์ไม่ครบถ้วน แถมเงื่อนไขเข้มงวดทำต้นทุนพุ่ง ดันค่าไฟสูงกว่าเมืองไทย หวั่นเอกชนถอย คาดสุดท้ายเหลือผู้ประมูลแค่ 2-3 ราย
นายพีระวัฒน์ พุ่มทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ 1 รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยความคืบหน้าการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่มัณฑะเลย์ ที่ประเทศพม่าว่า มีแนวโน้มที่โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเลื่อนการยื่นประมูลรอบสุดท้ายจากวันที่ 1 ส.ค.นี้ไปเป็นปลายเดือน ส.ค.แทน เนื่องจากหลักเกณฑ์รายละเอียดของโครงการยังไม่ครบถ้วน ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนไม่สามารถยื่นประมูลเสนอราคาค่าไฟฟ้าได้
โดยยอมรับว่าโครงการประมูลโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เข้มงวดมาก เนื่องจากเป็นการเปิดประมูลสร้างโรงไฟฟ้าโครงการแรกๆ ของรัฐบาลพม่า จึงได้ว่าจ้างบริษัทย่อยของเวิลด์แบงก์มาเป็นที่ปรึกษาและออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ต้นทุนโครงการสูงขึ้นซึ่งจะสะท้อนไปอยู่ที่ราคาค่าไฟฟ้า เบื้องต้นพบว่าราคาค่าไฟที่คำนวณภายใต้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ระบุนั้นสูงกว่าค่าไฟของประเทศไทยอีก ทำให้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมาแล้ว 8-9 รายเริ่มถอดใจไม่ยื่นประมูล คาดว่าสุดท้ายจะมีเพียง 2-3 รายเท่านั้นที่จะประมูลโครงการดังกล่าว
“บริษัทฯ คงขอรอดูหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐบาลพม่าจะกำหนดออกมาก่อนที่จะยื่นประมูลเสนอราคาค่าไฟฟ้า โดยยอมรับว่าหากหลักเกณฑ์ไม่ครบถ้วนก็คงไม่ยื่นประมูล เนื่องจากบริษัทฯ ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นด้วย เนื่องจากบริษัทได้กำหนดผลตอบแทนการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศต้องได้ไม่ต่ำกว่า 15%”
นายพีระวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัท ราชบุรีพลังงาน ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ RATCH ได้ดำเนินการขายหุ้นบริษัท สุโขทัย เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ถืออยู่ 2 แสนหุ้น หรือคิดเป็น 25%ของจำนวนหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท ซันไรซ์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม ในราคาหุ้นละ 54.71 บาท หรือประมาณ 10.94 ล้านบาท โดยผู้ซื้อไม่เกี่ยวโยงกันกับบริษัทฯ หรือบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัดแต่อย่างใด
โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ราชบุรีพลังงานก็ได้ขายหุ้นในบริษัท สุโขทัย เอ็นเนอร์ยี่ให้กับซันไรซ์ฯ จำนวน 26% ทำให้ปัจจุบันราชบุรีพลังงานไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวอีกต่อไป
การตัดสินใจขายหุ้นบริษัทดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากบริษัทฯ ไม่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเผาทิ้งเพิ่มประสิทธิภาพเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเสาเถียร-ประดู่เฒ่า ไม่ให้โรงไฟฟ้าเกิดสะดุดกลางคัน และเดินเครื่องจักรได้เต็มที่ จึงตัดสินใจถอนการลงทุนไป เนื่องจากต้องการนำบุคลากรไปพัฒนาโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศแทน