กรมการขนส่งฯ ปิดบัญชีจัดระเบียบรถตู้ผิดกฎหมาย ยันไม่รับเพิ่มหลังจัดระเบียบลงทะเบียน 5,549 คัน แต่มาตรวจสภาพเพียง 3,643 คัน โดยผ่านเกณฑ์แค่ 2,609 คัน เผยคัดกรองทั้งตรวจสภาพรถ ความพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ และอายุใช้งาน ให้โอกาสครั้งสุดท้ายก่อนจัดเข้าระบบสิ้นเดือน ก.ค.เท่านั้น
นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า จากที่ ขบ.ได้ร่วมกับกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของรถตู้โดยสารทั้งวิ่งในกรุงเทพฯ และวิ่งระหว่างจังหวัด โดยในขั้นแรกมีรถตู้ที่ผิดกฎหมายมาลงทะเบียนไว้จำนวน 5,549 คัน แต่มีรถตู้มารับการตรวจสภาพเมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพียง 3,643 คัน โดยในจำนวนนี้มีรถผ่านเกณฑ์เพียง 2,609 คัน โดยไม่ผ่านเกณฑ์ 1,0.34 คัน ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากอายุรถเกิน 10 ปี ซึ่งกรมการขนส่งฯ ยังไม่ตัดสิทธิ์โดยให้โอกาสจัดหารถใหม่เข้ามาให้บริการแทนภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ เจ้าของรถจะต้องผ่านการตรวจสอบที่ยืนยันว่าเป็นรถที่วิ่งให้บริการจริงด้วย ส่วนอีกส่วนหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากรถไม่มีอุปกรณ์ส่วนควบตามกฎหมาย เช่น ไม่มีเข็มขัดนิรภัย เบาะเก้าอี้ไม่ถูกต้อง เป็นต้น โดยให้เร่งแก้ไขให้ถูกต้องและนำรถมาตรวจสอบสภาพที่สำนักงานขนส่งเดิมที่เคยยื่นเอกสารไว้อีกครั้งในวันที่ 21-25 กรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ รถที่ไม่นำมาตรวจสภาพเมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคมที่ผ่านมาถือว่าหมดสิทธิ์แล้ว และกรมการขนส่งฯ จะไม่เปิดรับเพิ่มแล้ว ซึ่งขั้นตอนที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการหลายรอบแล้ว และรถที่ไม่เข้ามาร่วมจัดระเบียบถือว่าเป็นการคัดกรองระดับหนึ่งว่ารถคันใดวิ่งจริงไม่จริง เนื่องจากบางคันมาลงทะเบียนขอรับสติกเกอร์ไปแต่ไม่ได้มีการวิ่งให้บริการจริง โดยได้กำหนดให้ดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 31 กรกฎาคม นี้ รถตู้ที่ได้รับสติกเกอร์ไปแล้วหากมีการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎจราจร วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารนอกเส้นทางหรือเกินกว่าระยะทางที่กำหนด หรือเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและถอนออกจากบัญชีขอรับความช่วยเหลือทันที
โดยปัจจุบันมีรถตู้โดยสารที่ถูกกฎหมายทั้งหมดจำนวน 13,990 คัน แบ่งเป็นรถตู้ ขสมก.(หมวด 1 กทม. และปริมณฑล) จำนวน 5,116 คัน ให้บริการ 121 เส้นทาง รถตู้ บขส.(หมวด 2 ไม่เกิน 300 กม.) จำนวน 5,532 คัน ให้บริการ 104 เส้นทาง และรถตู้ระหว่างจังหวัดไม่เกิน 300 กม. (หมวด 3) จำนวน 3,342 คัน ให้บริการ 134 เส้นทาง