xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นถนนไทยป่วนเปิด AEC รถบรรทุกวิ่งเสรี ดันสร้างจุดพักคุมความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ดันผุดจุดพักรถบรรทุกครบวงจรในปี 58 รับเปิด AEC เตรียมเสนอนโยบายตัดสินใจขอใช้งบกลางปี 58 วงเงิน 200 ลบ.ก่อสร้างนำร่องที่หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง โดยให้สัมปทานเอกชนบริหาร ด้านผู้ประกอบการรถบรรทุกชี้ไม่สร้างระบบมาตรฐานคุมเปิด AEC ถนนไทยป่วนแน่ เหตุรถเพื่อนบ้านวิ่งทะลุแบบเสรี

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษารายละเอียดการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลศึกษาภายในเดือนกันยายน 2557 จากนั้นจะเสนอฝ่ายนโยบายตัดสินใจ เพื่อเริ่มดำเนินโครงการนำร่องแห่งแรกที่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นศูนย์บริการพักรถบรรทุกเต็มรูปแบบ วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 200 ล้านบาท เป็นพื้นที่ของกรมทางหลวง โดยจะเสนอขอใช้งบกลางดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558 รองรับเปิดเสรีอาเซียน (AEC) ซึ่งจะมีรถบรรทุกจากประเทศในอาเซียนเข้ามามากขึ้นได้พอดี

โดยจุดพักรถถือเป็นส่วนหนึ่งของถนน ซึ่งทางหลวงสายหลักทั่วประเทศมี 500,000 กิโลเมตร ขณะที่ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ห้ามไม่ให้ขับรถติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง ยังบังคับใช้ไม่ได้เต็มที่ การศึกษาจะเน้นทางหลวงอาเซียน ที่จะมีรถบรรทุกทั้งของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติวิ่ง ซึ่งพบว่าจะต้องมีการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลักให้ครอบคลุมทั่วประเทศทั้งหมด 41 จุด กำหนดรูปแบบก่อสร้างเป็น 2 ขนาด คือขนาดใหญ่ 13 จุด มูลค่าลงทุนประมาณ 200 ล้านบาทต่อจุด และขนาดเล็ก 28 จุด มูลค่าลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อจุด โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 เป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลางระหว่างปี 2563-2567 และระยะยาว ระหว่างปี 2567-2572 โดยเป้าหมายจะทำให้ลดการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายจุฬากล่าวว่า จุดพักรถบรรทุกจะใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก เพราะจะใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงซึ่งจะเป็นเจ้าของโครงการ ส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะทำหน้าที่กำกับดูแลกฎระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นรัฐจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโดยใช้งบประมาณ ส่วนการบริหารจัดการจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งในจุดจอดขนาดใหญ่ 13 แห่งถือว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะคาดว่าจะมีความคุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้นอาจจะใช้แนวคิดให้เอกชนที่ได้พื้นที่ขนาดใหญ่รับจุดจอดขนาดเล็กไปด้วย ซึ่งจะพิจารณาความเหมาะสมต่อไป

“หลัก รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้สัมปทานเอกชนบริหาร ซึ่งอาจจะต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็ได้ เพราะยังไม่ได้กำหนดอายุสัมปทาน ซึ่งหากรวมมูลค่าตลอดอายุสัมปทานอาจจะเกิน 1,000 ล้านบาทก็ได้ ส่วนหลักการคัดเลือกเอกชนจะแตกต่างจากทั่วไปที่เลือกรายที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุดเป็นผู้ชนะ แต่จะกำหนดผลตอบแทนจำนวนหนึ่งไว้เลย แต่ให้เอกชนเสนอค่าบริการที่ต่ำที่สุดจึงจะเป็นผู้ชนะ เพราะถือว่าบริการนี้เป็นของรัฐที่ต้องดูแลระบบความปลอดภัยของการคมนาคมขนส่งในภาพรวมเพื่อลดต้นทุนของประเทศ” นายจุฬากล่าว

นายยู เจียรยืนยงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการสร้างจุดพักรถที่ได้มาตรฐานเพื่อเป็นมาตรการที่เข้มข้น เพราะหลังเปิด AEC รถจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามาวิ่งในถนนของประเทศไทยมากขึ้น หากยังไม่มีมาตรการรองรับที่ดีจะเกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้นเพราะรถจากเพื่อนบ้านมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่ำกว่าไทยมาก สำหรับผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่จะมีระบบและวิธีปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยทั้งตัวรถและคนขับอยู่แล้ว เพราะตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัท แต่ผู้ประกอบการรายเล็กยังไม่ค่อยเข้มงวดเท่าเนื่องจากต้องยอมรับว่ามาตรการที่เข้มข้นนั้นผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่ม ดังนั้น จะต้องรณรงค์ให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานเดียวกันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น