“ฟ็อกซ์ฯ” ปักหมุดลุยขายคอนเทนต์แบบนอนเอ็กซ์คลูซีฟในทุกแพลตฟอร์ม ล่าสุดฮุบช่อง ESPN ปรับชื่อเป็น FOX Sports จัดเต็มคอนเทนต์กีฬาคุณภาพ หวังเป็นช่องสร้างรายได้เป็นอันดับ 2 ในไทยต่อจาก FOX ไทย พร้อมปัดฝุ่น “แชนแนลวี” รีแบรนดิ้งใหม่
ม.ร.ว.รุจยารักษ์ อาภากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฟ็อกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แชนแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของฟ็อกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แชนแนล คือ การขายลิขสิทธิ์ช่องรายการสู่ผู้ชมให้มากที่สุด โดยในประเทศไทยปัจจุบันไม่มีเอ็กซ์คลูซีฟแชแนลแล้ว จากทั้งหมด 5 ช่องที่ออกอากาศในไทย ได้แก่ 1.StarWorld HD ออกอากาศ 3 แพลตฟอร์ม คือ CTH, GMM Z และ ME TV 2.FOX ไทย ออกอากาศ 4 แพลตฟอร์ม คือ CTH, GMM Z, ME TV และTRUE visions 3.FOX Movie Premier HD ออกอากาศ 3 แพลตฟอร์ม คือ CTH, GMM Z และ TRUE visions 4.Channel V 5.FOX SPORTS ออกอากาศ 3 แพลตฟอร์มคือ CTH, GMM Z และTRUE visions
ในส่วนของช่อง FOX SPORTS เป็นช่องล่าสุดที่ทางฟ็อกซ์ได้ซื้อช่อง ESPN มา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น FOX SPORTS มีทั้งหมด 3 ช่อง อีก 2 ช่องคือ FOX SPORTS2 และ FOX SPORTS3 ซึ่งภายในช่องจะมีคอนเทนต์กีฬาคุณภาพมากมายที่ทางฟ็อกซ์ได้ลิขสิทธิ์มา เช่น บุนเดสลีกา 2015-2019 เป็นต้น โดยทีมงานของฟ็อกซ์มีความเชี่ยวชาญด้านเอนเตอร์เทนเมนต์อยู่แล้วจะมีการบริหารคอนเทนต์ดังกล่าวให้มีความน่าสนใจในรูปแบบเอนเตอร์เทนเมนต์ต่อไป เชื่อว่าจะเป็นอีกคอนเทนต์ที่จะได้รับความสนใจจากช่องรายการต่างๆ ด้วยเช่นกัน และจะเป็นช่องที่ทำรายได้ในไทยเป็นอันดับ 2 รองจากช่องฟ็อกซ์ไทย
“ทิศทางการซื้อลิขสิทธิ์กีฬาหลังจากนี้ มองว่าจะเป็นในรูปแบบของเจ้าของช่องคอนเทนต์ระดับอินเตอร์แบบฟ็อกซ์เป็นผู้เข้าไปซื้อไลเซนส์มากกว่าเอกชนรายเดียวที่เข้าไปซื้อ อย่างที่อาร์เอส หรือแกรมมี่เข้าไปซื้อคอนเทนต์กีฬาดังมาหลายรายการ เพราะทางเจ้าของลิขสิทธิ์จะมองเห็นโอกาสว่าเจ้าของช่องคอนเท้นท์สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ดีกว่า ขณะที่ความสนใจในการเข้าซื้อไลเซนส์จากเอกชนจะลดลงด้วยเนื่องจากกฎหมายที่เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ ในส่วนของช่องแชนแนลวี ในเดือน ก.ค.ศกนี้ จะมีการรีแบรนด์ รีโพซิชันนิ่งใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไม่เน้นออกอากาศสด หรือมีวีเจมาดำเนินรายการอย่างที่ผ่านมา จับกลุ่มนักศึกษา คนทำงาน และการเข้าถึงในวงกว้าง จากเดิมที่เน้นวัยรุ่นแต่พบว่าปัจจุบันวัยรุ่นเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์เป็นหลัก
ทั้งนี้ ในส่วนของฟ็อกซ์ไทยมีแผนที่จะบริหารคอนเทนต์ที่มีอยู่สู่ทุกแพลตฟอร์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมมากที่สุด ทำให้ต้นทุนในการซื้อคอนเทนต์มาบริหารในไทยสูงขึ้นอีก 5-10% ล่าสุดเตรียมดึงซีรีส์ดังอย่าง วอล์กกิ้งเดต มาอยู่ทางช่องฯ ด้วย
นอกจากนี้ยังจะมีการขายคอนเทนต์ในรูปแบบรายการออกไปทางแพลตฟอร์มดิจิตอลทีวีด้วย ขณะนี้มีสนใจเข้ามาแล้ว 3-4 ช่อง ส่วนใหญ่สนใจคอนเทนต์สารคดีจากช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟิก, คอนเทนต์กีฬา, ซีรีส์ และภาพยนตร์
ม.ร.ว.รุจยารักษ์ กล่าวต่อว่า จากแผนการดำเนินงานที่กล่าวมาส่งผลให้ฟ็อกซ์ไทยมีช่องทางหารายได้ 4 ช่องทางคือ 1.Pay TV 80% 2.ขายโฆษณา 15% ซึ่งมาจากรีจีนัลเป็นหลัก และโลคัลบางส่วน 3.ขายลิขสิทธิ์รายการในดิจิตอลทีวี และ 4.สื่อดิจิตอล/ออนไลน์/ดีไวซ์ รวมกันอีก 3-5% ถึงสิ้นปี 57 (ก.ค.57 - มิ.ย.58) น่าจะมีรายได้โตขึ้น 30-50% จาก 700 ล้านบาทที่ทำได้ในปีก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ 1-2 ปีที่ผ่านมาฟ็อกซ์ไทยมีรายได้โตขึ้น 200-300% จากการที่ปรับแผนการขายคอนเทนต์จากเอ็กซ์คลูซีฟแชแนลมาเป็นนอนเอ็กซ์คลูซีฟแชแนล