ส่งออก พ.ค.ติดลบอีก 2.14% เหตุสินค้าเกษตรส่งออกได้ลดลง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ยังมั่นใจครึ่งปีหลังดีขึ้น เป้า 3.5% ทำได้แน่ “นันทวัลย์” สั่งทูตพาณิชย์ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยให้ผู้นำเข้าเข้าใจเพื่อให้ทำการค้ากับไทยต่อไป ส่วนสหรัฐฯ ยุโรป ที่แบนสินค้าประมงไทยก็แค่บางราย ไม่ใช่ทั้งหมด
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือน พ.ค. 2557 มีมูลค่า 19,401.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.14% การนำเข้ามีมูลค่า 20,210.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.32% โดยเดือนนี้ไทยขาดดุลการค้า 808.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการส่งออกในช่วง 5 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่ารวม 92,862.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.22% การนำเข้ามีมูลค่า 94,418.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14% ส่งผลให้ยอดการขาดดุลการค้า 5 เดือนมีมูลค่า 1,556.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
สาเหตุที่ทำให้การส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 3.5% จากราคาส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย 0.1%
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ที่ 3.5% ปรับลดจากเดิม 5% โดยแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น
นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ได้ปรับลดสถานะประเทศไทยในเรื่องการค้ามนุษย์มาอยู่ในบัญชีต่ำสุด และสหภาพยุโรป (อียู) ได้มีการกล่าวหาไทยเรื่องแรงงาน ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทำการชี้แจงลูกค้าและผู้นำเข้ารายสำคัญถึงแนวทางการทำงานของไทย และการแก้ไขปัญหาของไทยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา
“กรมฯ ได้ส่งข้อมูลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานไปให้ทูตพาณิชย์เป็นระยะๆ แล้วให้ทูตพาณิชย์ไปชี้แจงทำความเข้าใจผู้นำเข้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และยังคงทำการค้ากับไทยต่อไป”
ส่วนในระยะยาว กรมฯ ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ทั้งประมง สิ่งทอ น้ำตาล ซึ่งจะต้องมีการปรับกระบวนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ ที่จะต้องสามารถชี้แจงแหล่งที่มาที่ไปได้ โดยต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีบางประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ ออกข่าวว่าจะแบนสินค้าประมงจากไทยนั้น เป็นเพียงแค่บางบริษัท ไม่ใช่ทุกบริษัท และไม่ได้แบนทันที บางรายแค่ชะลอการนำเข้าในช่วงนี้ แต่ถ้าไทยสามารถชี้แจงและยืนยันให้ลูกค้าเข้าใจและมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน ก็จะทำการค้ากับไทยต่อไป ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังคงยืนยันทำการค้ากับไทย เช่น สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐฯ (NFI) เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์อันเดอร์เคอร์เรนต์นิวส์ ดอตคอม ได้รายงานว่า บริษัท โอลฟูดส์ เครือข่ายค้าปลีกสหรัฐฯ และบริษัทค้าปลีกไอซีเอ ของนอร์เวย์ ได้ยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าจากซีพีเอฟเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถชี้แจงได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งเป็นการประกาศตามหลังคาร์ฟูร์ของฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษได้ขอให้สมาคมค้าปลีกอังกฤษ หรือบีอาร์ซี ทำคู่มือแนวทางการเลือกซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้แรงงานทาส เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เชื่อมโยงกับการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งทอ