ถกแผนปฏิรูปโครงสร้างพลังงานประเทศรอบ 2 กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานและเครือข่ายผู้บริโภคตบเท้าให้ข้อมูล “คสช.” คึกคัก เสนอยกเลิกสัมปทานปิโตรเลียมเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์แทนเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ จัดระเบียบโครงสร้างราคาพลังงานเช่นน้ำมันให้อิงหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เท่านั้นไม่ให้บวกค่าขนส่งเพราะไม่มีจริง ราคาอี85 ค่าการตลาดสูงเวอร์ แอลพีจีน้ำมันมั่วกันแยกไม่ออก แยกกิจการท่อก๊าซฯ ทั้งหมดออกมา
กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยและเครือข่ายผู้บริโภคตบเท้าเข้าชี้แจงข้อมูล “คสช.” รอบ 2 เสนอให้ปรับระบบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแทน ยันเป็นระบบสากลที่ภูมิภาคอาเซียนใช้อยู่เอื้อประโยชน์รัฐมากกว่า รื้อโครงสร้างราคาน้ำมันอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แทนอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งที่ไม่มีอยู่จริง แยกราคาน้ำมัน ก๊าซฯ ให้ชัดเจนเป็นธรรม แยกกิจการท่อก๊าซฯ มาเป็นของรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มิ.ย.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศมาหารือเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการจัดทำแผนให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศต่อไปหลังจากที่หารือครั้งแรกยังไม่ได้ข้อสรุป
ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยหลังการเข้าชี้แจงข้อมูลว่า ได้เสนอข้อมูลให้ คสช.สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ให้ทบทวนระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียใหม่และสัมปทานที่จะหมดอายุลงในอีก 7-8 ปีนี้ ส่วนของเดิมก็ให้ดำเนินการไปตามปกติเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในอาเซียนเพื่อให้เป็นระบบสากล เพราะในภูมิภาคนี้ใช้ระบบดังกล่าวหมดและไม่ควรจะอ้างว่าไทยเป็นแหล่งผลิตขนาดเล็กเพราะอินโดนีเซียก็มีแหล่งผลิตทั้งเล็กและใหญ่ก็อิงระบบนี้หมด 2. การบริหารจัดการก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีควรจะแแก้ไขมติ ครม.ปี 2551 ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิ์ในการใช้ก๊าซในอ่าวไทยร่วมกับประชาชนโดยให้ประชาชนมีสิทธิ์ก่อนลำดับแรกและที่เหลือหากต้องมีการนำเข้าให้ภาคปิโตรคมีนำเข้าแทน
“กรณีแอลพีจีถ้าแก้ไขมตินี้ได้การนำเข้ามาก็จะเป็นภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไป ปัญหาการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีในขณะนี้ก็จะหมดลงภาระตรงนี้จะหายไปทันที” ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์กล่าว
ประเด็นที่ 3 ได้เสนอให้ราคาน้ำมันที่อิงตลาดสิงคโปร์ปัจจุบันควรอิงราคาหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์ไม่ใช่อิงราคาหน้าโรงกลั่นบวกค่าพรีเมียมที่ได้จากการนำเข้าซึ่งเป็นการบวกค่าขนส่งเข้าไปทั้งที่ค่าขนส่งเหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้วในราคาน้ำมันดิบ แต่เมื่อไทยมีโรงกลั่นเองแล้วกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็ไม่ควรจะอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเช่นปัจจุบันซึ่งขณะนี้มีการบวกส่วนนี้ไปประมาณ 70 สตางค์ต่อลิตร
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เสนอ 3 เรื่อง ได้แก่ โครงสร้างราคาพลังงาน ท่อก๊าซฯ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเรื่องราคาน้ำมันต้องการให้ทำโครงสร้างแยกราคาออกมาให้ชัดว่าชนิดใดเป็นก๊าซ เป็นน้ำมัน ไม่ใช่เอาคนใช้น้ำมันไปอุ้มราคาก๊าซฯ จนสับสนไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ราคาน้ำมันต่ำเป็นประชานิยม แต่ต้องการเน้นให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้จริงๆ
“ตัวอย่างเช่น แก๊สโซฮอล์ อี85 เราพบว่าถ้าเราไปเติมพันบาทจะพบว่า 200 บาทนั้นเป็นค่าการตลาด แถมราคาหน้าโรงกลั่นก็ยังแพงอีก เราไม่รู้ว่าใครพุงปลิ้นนะ นี่เป็นโครงสร้างราคาหนึ่งที่เราต้องการให้ชัด” น.ส.บุญยืนกล่าว
สำหรับท่อก๊าซธรรมชาติได้เสนอให้แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาทั้งบนและทางทะเลตามคำสั่งศาลปกครองเพื่อให้เกิดความธรรมต่อผู้ใช้ ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้เสนอว่าจะต้องยกเลิกอะไร แต่ได้เสนอข้อมูลให้เป็นธรรมไม่ได้สลับซับซ้อนเช่นที่เป็นอยู่