เปิดโลกดิจิตอลทีวี พบพฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คนทีวีต้องวิ่งให้ทัน มัลติสกรีนปัญหาใหญ่ดึงความสนใจคอนเทนต์ลดลง ทุบช่วงเวลา “ไพรม์ไทม์” เปลี่ยนอยู่ในกำมือผู้ชม “ไทยรัฐทีวี” วางตัวเป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ชูกลยุทธ์ขายออกคอนเทนต์มากขึ้น ยึดโรดแมปผ่าน “คอนเนกเต็ดทีวี” ทางรอดในวันนี้
วานนี้ (17 มิ.ย) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดงานเสวนาและนิทรรศการทางวิชาการ หนึ่งในโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ ในหัวข้อ “สู่ยุคโทรทัศน์ดิจิทัล” (Digital TV)
ในช่วงการเสวนาในหัวข้อ “มีอะไรใหม่ในสื่อโทรทัศน์ยุคดิจิทัล” จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลกับช่องดิจิตอลทีวีทั้ง 24 ช่องในขณะนี้พบว่า 1.พฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เทคโนโลยีต้องตามให้ทัน 2.การเข้าถึงจอภาพเป็นแบบมัลติสกรีน 3.รายการไพรม์ไทม์เปลี่ยนไป
นายสุวิทย์ สาสนพิจิตร์ ผู้อำนวยการสำนักรายการและสร้างสรรค์รายการ สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้ชมรายการโทรทัศน์เปลี่ยนแปลงเร็วมากกว่าคนทำทีวีจะตามทัน โดยพบว่าเฉลี่ยคนดูทีวี 20 นาทีต่อวันและดูผ่านจอทีวีลดลง เห็นจากกลุ่มวัยรุ่นที่จะหันมาใช้งานผ่านจอขนาดเล็กที่ไม่ใช่จอทีวีถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน และยังพบอีกว่าผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปดูผ่านจอเล็กมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่ปัจจุบันคนไทยมีการใช้งานผ่านมัลติสกรีนในเวลาเดียวกันกับการใช้งานผ่านดีไวซ์หลายๆ ตัว ถือเป็นพฤติกรรมปกติที่ใช้ตลอดทั้งวัน
“เป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าสนใจของการเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลที่จะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้คอนเทนต์ยังคงอยู่บนแพลตฟอร์มไม่หลุดไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่น อย่าง ยูทิวบ์ เป็นต้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องวิ่งไล่ตามให้ทัน แต่ที่สำคัญที่สุดจะทำอย่างไรให้อยู่รอดให้ได้ในเวลานี้ ในแง่ของรายได้ที่จะมาจากโฆษณาจะต้องเน้นเพิ่มกลุ่มที่ไม่เคยลงโฆษณามาใช้เงินมากขึ้น ดีกว่าแย่งเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีอยู่เท่าเดิม อุตสาหกรรมโฆษณาจึงจะขยายตัวขึ้นจริง” นายสุวิทย์ กล่าว
ด้าน นางสาวจิตสุภา วัชรพล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารช่อง “ไทยรัฐทีวี” กล่าวว่า โรดแมปของช่องไทยรัฐทีวีต้องการเป็นคอนเนกเต็ดทีวี ด้วยการนำพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์สื่อสารของผู้ชมนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการรับชมช่องไทยรัฐทีวีมากที่สุด ไม่ให้คนเปลี่ยนไปดูช่องอื่นและวางโมเดลการสร้างรายได้โดยการมองตัวเองเป็นคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ปรับวิธีคิดในการผลิตคอนเทนต์ใหม่ จากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อช่องตัวเองเพียงอย่างเดียวต้องมองถึงการขายคอนเทนต์ออกไปด้วยจึงจะอยู่ได้
“พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายในการรับชมเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เนื่องจากปัจจุบันช่องรายการทางเคเบิลทีวีมีเกิดขึ้นอยู่แล้วหลายช่อง แต่ละช่องก็เน้นจับกลุ่มเป้าหมายแบบนิชมาร์เกตอยู่แล้ว ดังนั้นผังรายการและคอนเทนต์ที่นำเสนอจะทำได้ยากขึ้น บวกกับพฤติกรรมของผู้ชมที่มีสามารถรับชมได้หลายจอในเวลาเดียวกัน รายการไพรม์ไทม์เปลี่ยนไป จากเดิมทางช่องเป็นคนเซตไว้ แต่ตอนนี้เป็นแบบมายไพรม์ไทม์ซึ่งแต่ละช่องจะต้องหาวิธีมารองรับเพื่อไม่ให้คอนเทนต์หลุดไปยังแพลตฟอร์มอื่นจะต้องดึงความสนใจของผู้ชมให้ดีให้อยู่ที่ช่องให้นานที่สุด เวลานี้จึงถือได้ว่าเรากำลังวิ่งตามคอนซูเมอร์ขึ้นอยู่กับว่าช่องใดทำได้โดนใจมากกว่า ดีกว่า และเร็วกว่า” นางสาวจิตสุภา กล่าว
สำหรับ “ไทยรัฐทีวี” ออกอากาศมาได้เดือนกว่าแล้ว โดยวางสัดส่วนรายการออกเป็นข่าวสารสาระ 50% และวาไรตีบันเทิง 50% เนื่องจากมีความแข็งแกร่งในเรื่องของข่าว แม้ว่าจะได้ใบอนุญาติแบบช่องวาไรตี เอชดี ที่ต้องมีสัดส่วนรายการข่าวไม่ต่ำกว่า 25% ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับไทยรัฐ รายการบันเทิงต่างๆ จึงยังไม่โดดเด่น เช่น ดารา นักแสดง ที่ไม่มีในสังกัด เป็นโจทย์ที่ไทยรัฐจะพัฒนาต่อไป ถึงปีหน้าไทยรัฐน่าจะมีละครมาออกอากาศได้
ส่วนความร่วมมือกับโพลีพลัสนั้น ในความเป็นจริงโพลีพลัสถือเป็นโปรดักชันเฮาส์ที่ไทยรัฐทีวีมองเป็นพาร์ตเนอร์เช่นรายอื่นๆ ทางโพลีพลัสจึงสามารถทำงานร่วมกับช่องรายการอื่นๆ ได้ ไม่ได้ปิดกั้น หรือต้องผลิตให้กับไทยรัฐทีวีเท่านั้น ทั้งนี้ ทางไทยรัฐทีวีมีการจับมือกับโปรดักชันเฮาส์ หรือผู้ผลิตรายการอื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะรายการรูปแบบสาระ แต่พบว่าปัญหาใหญ่ที่พบคือ ผู้ผลิตรายการประเภทนี้ยังขาดความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำเสนอรายการเหล่านี้ออกมาแบบดูสนุกและให้ความรู้ได้