องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นเสนอ คสช.ตรวจเพิ่มอีก 3 โครงการขนาดใหญ่ การซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 หลังพบใช้งบประมาณมาก และส่อให้เกิดการคอร์รัปชัน
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า องค์กรฯ จะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้าไปตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 3 โครงการ จาก 8 โครงการที่ คสช.กำลังตรวจสอบอยู่ โดยจะขอให้ตรวจสอบโครงการจัดซื้อฝูงบินใหม่ของการบินไทย วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 800 ชุมชน 800 เมกะวัตต์ มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะใช้งบประมาณปี 2558 ดำเนินการ
“โครงการเหล่านี้ใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดการคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ จึงเสนอให้ คสช.เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม เพราะการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่จะทำให้ไม่มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้น แต่ในระยะยาวจะต้องมีแผนที่ชัดเจนด้วย”
สำหรับ 8 โครงการที่ คสช.กำลังตรวจสอบ ได้แก่ 1. โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คัน ของ ร.ฟ.ท. 3. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี พ.ศ. 2554-2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) 4. โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท. 5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน 6. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งล่าสุด คสช.ได้สั่งยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว 7. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ 8. โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.
ส่วนการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบด้วยการปรับเปลี่ยนกฎ กติกา ในการเข้ามาเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการในขณะนี้เป็นเพียงแนวทางระยะสั้น ซึ่งในระยะยาวจะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารองค์กร และจะต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง
นายประมนต์กล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเร่งด่วนที่องค์กรฯ ได้เสนอ คสช.ไปแล้วมี 8 ข้อ ได้แก่
1. สร้างความไว้วางใจและมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ (Integrity Pact)
2. รัฐเป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยการให้งบประมาณเพื่อการรณรงค์ทางสื่อสาธารณะอย่างมียุทธศาสตร์และต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดยให้องค์กรวิชาชีพภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินงาน ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
3. ให้การสนับสนุนโครงสร้างมาตรฐานที่โปร่งใสในกระบวนการให้บริการของภาครัฐ (Service Level Agreement-SLA) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการเรียกสินบนของเจ้าหน้าที่ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กำลังขับเคลื่อนอยู่
4. แก้ปัญหาคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจ ด้วยการเป็นองค์กรของมืออาชีพ มีคณะกรรมการฯ ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นอิสระ เพื่อป้องกันการแทรกแซงของนักการเมือง และมีมาตรฐานการบริหารจัดการ (Corporate Governance) เหมือนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรการเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
5. แก้ปัญหาเรียกรับสินบนในการออกใบอนุญาตที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและนักธุรกิจ เช่น รง.4 ใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน ใบอนุญาตประกอบการต่างๆ โดยนำร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ... ที่สำนักงานกฤษฎีกาได้ร่างไว้แล้ว ออกมาประกาศใช้
6. การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอและช่วยให้มาตรการอื่นๆ ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีการศึกษาแนวทางไว้พร้อมแล้ว
7. แก้ปัญหาประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ ด้วยการนำร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ... ที่ผ่านกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาชุดล่าสุดไปแล้ว และเป็นการตรากฎหมายตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550
8. สร้างมาตรการทางกฎหมายติดตามจับกุมลงโทษคนโกงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้นำกฎหมาย 3 ฉบับที่กระทรวงยุติธรรมได้ร่างไว้และเสนอเข้า ครม.แล้วสองครั้ง เพื่ออนุวัติตามอนุสัญญา UNCAC 2003 เช่น อายุความ การติดตามตัวผู้ร้ายข้ามแดน การติดตามคืนและริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการคอร์รัปชัน เป็นต้น