ที่ปรึกษา สมช.เผย “ประชา” เทงบสร้างหอพักสตรีอียิปต์รองรับ นศ.ขอตั้งอุดมศึกษาชายแดนใต้ “วันนอร์” นั่ง คกก.จัดการสอน แจง ศปก.กปต.อนุมัติ 10 มาตรการคุมไฟใต้ ให้ 5 นโยบายดำเนินการ เพิ่มที่นั่ง พูโล-บีไอพีพี ร่วมถก ชง 2 ข้อเสนอสวน BRN กอ.รมน.บูรณาการกำลังดูแลเทศกาลลอยกระทง ใช้แผนพิทักษ์เขาบูโด ผู้ว่านราฯแบ่งการดูแลความสงบ 3 ระดับ หวังปีหน้าตั้ง ชคต.ครบ 75 ตำบล รองอธิบดีสารนิเทศ เผยไทยเล็งเชิญนายกฯมาเลย์ ลงพื้นที่หลังประชุม 2 ชาติ
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวถึงการประชุมศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการให้สร้างหอพักสตรีในประเทศอียิปต์ วงเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินการในปี 2557 โดยมีนักศึกษาจำนวน 2,500 คนเข้าพัก โดยทางประเทศอียิปต์ได้เตรียมพื้นที่ก่อสร้างให้แล้ว นอกจากนี้ยังขออนุมัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอนสอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.ยะลา เป็นคณะกรรมการจัดการเรียนการสอน
พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.กปต.ได้อนุมัติ 10 มาตรการรักษาความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจัดโซนนิงสถานบันเทิง โดยศึกษาว่าจะมีหน่วยงานใดรับผิดชอบ และเป็นเจ้าภาพให้ครอบคลุมเมื่อถึงวันเวลาดำเนินการ ในบางมาตรการสามารถเริ่มดำเนินการได้เลย แต่บางมาตรการต้องรองบประมาณสนับสนุน ซึ่งจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอข้อมูลต่อ ศปก.กปต.ในครั้งต่อไป ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชา ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนอีก 5 นโยบาย เพื่อไปดำเนินการ อาทิ 1.การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรมและถูกต้อง 2.ลดเงื่อนไขการนำไปสู่ความแตกแยกและลดความคิดในการแบ่งแยกดินแดน 3.สร้างสภาวะแวดล้อมเกื้อกูลในการสร้างสันติสุข 4.ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เกิดการมีส่วนรวม และ 5.ให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ 16 กระทรวง 77 หน่วยงานนำงานพัฒนาเข้าสู่พื้นที่พร้อมให้ประชาชนมากำหนดแผนงานและผลักดันด้วยตัวเอง
พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งที่ 4 ต่อไปจะไม่ใช้คำว่าการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยกับบุคคลที่มีความเห็นต่าง โดยการพูดคุยครั้งที่ 4 ได้กำหนดที่นั่งสำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพียง 4 ที่นั่ง กลุ่มพูโล 2 ที่นั่ง และบีไอพีพี 1 ที่นั่ง ส่วนอีก 8 ที่นั่งจะเป็นส่วนที่ผู้ที่มีความเห็นต่าง โดยจะเชิญนักวิชาการของประเทศมาเลเซียเข้าร่วมประชุม ส่วนของไทยยังเป็น 15 คนเหมือนเดิม โดยกำหนดพูดคุยประมาณช่วงต้นเดือน ธ.ค.2556 สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นขอมานั้น ที่ประชุมได้รับหลักการเพื่อพิจารณา เพียงแต่เพิ่มเติมอีก 2 ข้อ คือ 1.ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทยและจะไม่ควบรวมเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด หากยังพูดถึงเรื่องเหล่านี้เราจะไม่คุยพร้อมกับเน้นเรื่องการลดก่อเหตุรุนแรง 2.เพิ่มความเสมอภาคในการอยู่ร่วมกันอย่างสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข
ขณะที่ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กล่าวถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยในเทศกาลวันลอยกระทง ว่า กอ.รมน.ได้บูรณาการกำลังทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อดูแลพื้นที่ภายในและภายนอกด้วยการเสริมกำลังภาคประชาชน ส่วนพื้นที่จัดงานจะเพิ่มกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้กำหนดแผนพิทักษ์บูโดขึ้นในพื้นที่ 6 อำเภอรอบเขา ซึ่งเป็นรอยต่อของ 3 จังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดอิทธิพลของผู้ก่อความไม่สงบ
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการดูแลรักษาความสงบใน จ.นราธิวาสว่า ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ระดับคือ หมู่บ้านเสริมสร้างความมั่นคง หมู่บ้านเร่งรัดการพัฒนา และหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กองกำลังประจำถิ่น และกำลังภาคประชาชน สนับสนุนโครงสร้างการปกครองของรัฐ คือคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่สามารถต่อต้านและป้องกันหมู่บ้าน จัดตั้งโครงสร้างอาเยาะห์ในหมู่บ้านโดยจัดชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรักษาความสงบ คณะกรรมการหมู่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเป็นกำลังหลักซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 46 ชคต.โดยจะจัดตั้งให้ครบ 75 ตำบล ในปี 2557
ในส่วนกิจกรรมการจัดส่งและอำนวยพรแก่ผู้ดำเนินการไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 2556 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางท่าอากาศยานนราธิวาส ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และในวันที่ 29-30 พ.ย.นี้ จะมีการประชุม ครม.สัญจร ที่จ.สงขลา โดยมีวาระพิจารณาสนับสนุนเพิ่มเที่ยวบินให้ชาวมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์
นายจักรกฤษ ศรีวลี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS) ครั้งที่ 4 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย (JC) ครั้งที่ 13 ที่จะมีขึ้นในต้นปี 2557 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี 2 ฝ่ายในการประชุมหารือประจำปี (AC) ครั้งที่ 6 นอกจากนี้ฝ่ายไทยได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี 2 ฝ่ายร่วมกันเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการประชุมเจซีอีกด้วย
วันนี้ (15 พ.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวถึงการประชุมศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการให้สร้างหอพักสตรีในประเทศอียิปต์ วงเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติดำเนินการในปี 2557 โดยมีนักศึกษาจำนวน 2,500 คนเข้าพัก โดยทางประเทศอียิปต์ได้เตรียมพื้นที่ก่อสร้างให้แล้ว นอกจากนี้ยังขออนุมัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอนสอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส.ยะลา เป็นคณะกรรมการจัดการเรียนการสอน
พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.กปต.ได้อนุมัติ 10 มาตรการรักษาความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจัดโซนนิงสถานบันเทิง โดยศึกษาว่าจะมีหน่วยงานใดรับผิดชอบ และเป็นเจ้าภาพให้ครอบคลุมเมื่อถึงวันเวลาดำเนินการ ในบางมาตรการสามารถเริ่มดำเนินการได้เลย แต่บางมาตรการต้องรองบประมาณสนับสนุน ซึ่งจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอข้อมูลต่อ ศปก.กปต.ในครั้งต่อไป ทั้งนี้ พล.ต.อ.ประชา ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนอีก 5 นโยบาย เพื่อไปดำเนินการ อาทิ 1.การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรมและถูกต้อง 2.ลดเงื่อนไขการนำไปสู่ความแตกแยกและลดความคิดในการแบ่งแยกดินแดน 3.สร้างสภาวะแวดล้อมเกื้อกูลในการสร้างสันติสุข 4.ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เกิดการมีส่วนรวม และ 5.ให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ 16 กระทรวง 77 หน่วยงานนำงานพัฒนาเข้าสู่พื้นที่พร้อมให้ประชาชนมากำหนดแผนงานและผลักดันด้วยตัวเอง
พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในครั้งที่ 4 ต่อไปจะไม่ใช้คำว่าการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยกับบุคคลที่มีความเห็นต่าง โดยการพูดคุยครั้งที่ 4 ได้กำหนดที่นั่งสำหรับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพียง 4 ที่นั่ง กลุ่มพูโล 2 ที่นั่ง และบีไอพีพี 1 ที่นั่ง ส่วนอีก 8 ที่นั่งจะเป็นส่วนที่ผู้ที่มีความเห็นต่าง โดยจะเชิญนักวิชาการของประเทศมาเลเซียเข้าร่วมประชุม ส่วนของไทยยังเป็น 15 คนเหมือนเดิม โดยกำหนดพูดคุยประมาณช่วงต้นเดือน ธ.ค.2556 สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นขอมานั้น ที่ประชุมได้รับหลักการเพื่อพิจารณา เพียงแต่เพิ่มเติมอีก 2 ข้อ คือ 1.ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทยและจะไม่ควบรวมเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด หากยังพูดถึงเรื่องเหล่านี้เราจะไม่คุยพร้อมกับเน้นเรื่องการลดก่อเหตุรุนแรง 2.เพิ่มความเสมอภาคในการอยู่ร่วมกันอย่างสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข
ขณะที่ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กล่าวถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยในเทศกาลวันลอยกระทง ว่า กอ.รมน.ได้บูรณาการกำลังทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อดูแลพื้นที่ภายในและภายนอกด้วยการเสริมกำลังภาคประชาชน ส่วนพื้นที่จัดงานจะเพิ่มกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้กำหนดแผนพิทักษ์บูโดขึ้นในพื้นที่ 6 อำเภอรอบเขา ซึ่งเป็นรอยต่อของ 3 จังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดอิทธิพลของผู้ก่อความไม่สงบ
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการดูแลรักษาความสงบใน จ.นราธิวาสว่า ได้แบ่งพื้นที่เป็น 3 ระดับคือ หมู่บ้านเสริมสร้างความมั่นคง หมู่บ้านเร่งรัดการพัฒนา และหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กองกำลังประจำถิ่น และกำลังภาคประชาชน สนับสนุนโครงสร้างการปกครองของรัฐ คือคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ที่สามารถต่อต้านและป้องกันหมู่บ้าน จัดตั้งโครงสร้างอาเยาะห์ในหมู่บ้านโดยจัดชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรักษาความสงบ คณะกรรมการหมู่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนเป็นกำลังหลักซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 46 ชคต.โดยจะจัดตั้งให้ครบ 75 ตำบล ในปี 2557
ในส่วนกิจกรรมการจัดส่งและอำนวยพรแก่ผู้ดำเนินการไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปี 2556 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางท่าอากาศยานนราธิวาส ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และในวันที่ 29-30 พ.ย.นี้ จะมีการประชุม ครม.สัญจร ที่จ.สงขลา โดยมีวาระพิจารณาสนับสนุนเพิ่มเที่ยวบินให้ชาวมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์
นายจักรกฤษ ศรีวลี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS) ครั้งที่ 4 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย (JC) ครั้งที่ 13 ที่จะมีขึ้นในต้นปี 2557 เพื่อติดตามความคืบหน้าในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี 2 ฝ่ายในการประชุมหารือประจำปี (AC) ครั้งที่ 6 นอกจากนี้ฝ่ายไทยได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี 2 ฝ่ายร่วมกันเยือนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการประชุมเจซีอีกด้วย