“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ขอบคุณทีมสู้คดีปราสาทพระวิหาร ย้ำผลการพิพากษาเป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นผลบวกกับไทย ฝาก “ทูตวีรชัย” แจงประชาชน พร้อมให้ศึกษาคำวินิจฉัย รับฟังความคิดเห็นนักวิชาการ-ประชาชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ด้าน “ปึ้ง” รอนัด “ฮอร์ นัมฮง” ถกเจซี อ้ำอึ้งไทยเสียพื้นที่ชะง่อนผาเขาพระวิหาร ด้าน 40 ส.ว.สงสัยศาลโลกพิพากษาเอื้อกัมพูชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (13 พ.ย.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ พร้อมด้วย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมให้การต้อนรับ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวขอบคุณนายวีระชัยและคณะทีมงาน รวมถึงที่ปรึกษาทุกคนที่ทุ่มเททำงานนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะนายวีรชัยที่ทำงานในเรื่องคดีปราสาทพระวิหารเป็นเวลานาน เราเชื่อว่าท่านเป็นคนรู้ลึกที่สุดแล้ว กับรายละเอียดต่างๆ จึงต้องขอบคุณในความทุ่มเทอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมาเราก็ต่อสู้ในทุกประเด็นอย่างเต็มที่ และจากผลการต่อสู้เราก็พอใจในสิ่งที่ดูจากประเด็น ทั้งด้านคดีที่เราไปสู้คดีในหลายๆ ประเด็น
“การตัดสินของศาลโลกที่ออกมาถือว่าเป็นผลบวกกับฝ่ายไทย แต่ยังมีประเด็นเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งเราก็คงต้องมาหารือกันในรายละเอียดต่อไป ที่ผ่านมาเราทำอย่างดีที่สุด ซึ่งเชื่อว่าวันนี้เราก็มีความสบายใจว่า บรรยากาศในเมืองไทยก็ดีใจที่เห็นพี่น้องประชาชนในบริเวณชายแดนนั้นมีความร่วมใจกันมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี”
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในความเป็นจริง หากดูจากประเด็นคำตัดสินก็ถือว่าเรามีความพอใจในหลายๆ เรื่อง และเรื่องที่เป็นพื้นที่ใหญ่ก็พอใจ สำหรับพื้นที่เล็ก เราก็จะใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงต่อไป จึงอยากขอฝากนายวีรชัย คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่จะต้องศึกษาคำวินิจฉัยของศาลโลก ใช้การวินิจฉัยอย่างเต็มที่และอยากให้ใช้โอกาสนี้รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและภาคประชาชนด้วย เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์อย่างเต็มที่ และเราจะได้ใช้แนวทางนี้ในการทำงานต่อไป
ด้านนายวีรชัยกล่าวว่า ขอขอบคุณนายกฯ รองนายกฯ และรัฐบาล รวมถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศที่สนับสนุนตนอย่างเต็มที่ จริงๆ แล้วตนเองเป็นลูกข้าราชการ ทำงานราชการมานาน ตนเห็นว่าครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุกอย่างอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ บุคลากรและกำลังใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“ต้องขอบคุณเพราะคิดว่างานนี้เป็นงานหนึ่ง และยังมีงานอีกมากที่ข้าราชการทำ แต่ไม่มีใครเห็น และข้าราชการที่ทำงานดีๆ ก็ยังมีอีกเยอะ คิดว่าผลที่ออกมาไม่ได้เลวร้าย และเราก็พอจะอธิบายได้ โดยจะนำข้อคิดเห็นทั้งจากประชาชน นักวิชาการต่างๆ ที่ได้ศึกษามาเบื้องต้น มาวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและจะรายงานข้อมูลให้นายกฯ ทราบต่อไป”
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้กระทรวงการต่างประเทศ จะรับฟังความคิดเห็นสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ พร้อมชี้แจงรายละเอียดคำตัดสินของศาลโลกคดีพิพาทประสาทพระวิหาร ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (เจซี) โดยขณะนี้ยังไม่ได้นัดหมายการประชุม แต่จะพูดคุยกับนายฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศ ว่าจะประชุมได้เมื่อไหร่ และเมื่อประชุมเสร็จก็จะนำผลการประชุมเสนอต่อรัฐสภาอีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และเปิดรับฟังความเห็นประชาชนด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่ม 40 ส.ว.ระบุว่าไทยเสียชะง่อนผา (ยอดเขาพระวิหาร) ให้กับกัมพูชา นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นแนวกลุ่ม 40 ส.ว. คงจะอภิปรายในที่ประชุมและข้าราชการจะเป็นผู้ชี้แจง เมื่อถามย้ำว่ารัฐมนตรีสามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้หรือไม่ไทยจะไม่เสียดินแดน นายสุรพงษ์ตอบว่า สิ่งที่ศาลโลกตัดสินเป็นชัยชนะทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน มีความสุข สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติก็เป็นชัยชนะทั้ง 2 ประเทศแล้ว
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สว.กทม.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายทัวไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 179 เพื่อหารือกรณีคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก และเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเร่งชี้แจงหรือดำเนินการใดๆ เนื่องจากคำตัดสินของศาลยังไม่มีความชัดเจน และยังมีเงื่อนงำที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมเห็นว่าผลคำตัดสินของศาลโลกส่งผลให้ขยายขอบเขตพื้นที่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาออกไปอีก จึงต้องข้อสังเกตว่าศาลตัดสินเอื้อประโยชน์ให้กัมพูชาและมีรัฐบาลไทยให้ความร่วมมือ ดังนั้นเห็นว่ารัฐบาลควรนำประเด็นดังกล่าวมาหารือกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย