xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! อียูใกล้จดจีไอกาแฟดอยช้าง-ดอยตุง ส่วนมะกันไม่ตัดร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาแฟดอยช้าง ดอยตุง จ่อได้จดจีไอในอียูอีกตัว ตามหลังข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส่วนเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานมีลุ้นจดในเวียดนาม เตรียมขึ้นทะเบียนจีไออีก 2 รายการ มะยงชิดและมะปรางหวาน นครนายก และทุเรียนปราจีนบุรี “กุลณี” ยันสหรัฐฯ ยังร่วมมือไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญา เจ้าของสิทธิ์ต่างชาติจี้เร่งปราบปรามละเมิด เล็งผุด ASEAN TMview ช่วยจดทะเบียนและกันถูกฉกเครื่องหมายการค้าไปใช้

นางกุลณี อัศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า การจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) สินค้ากาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุงในสหภาพยุโรป (อียู) มีความคืบหน้าโดยลำดับ โดยล่าสุดการประกาศโฆษณาการจดทะเบียนไม่มีใครยื่นคัดค้านตามระยะเวลาที่กำหนด โดยคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังดำเนินการอนุมัติให้มีการจดจีไอ คาดว่าน่าจะเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นสินค้าอีกตัวที่ได้รับการจดจีไอในอียูตามหลังข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ได้รับการจดทะเบียนไปก่อนหน้านี้

“การได้รับการจดจีไอสำหรับกาแฟดอยช้าง ดอยตุง จะส่งผลดีทำให้กาแฟทั้ง 2 ชนิดสามารถติดตราสัญลักษณ์จีไอของอียูบนบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เพราะผู้บริโภคในอียูชอบสินค้าจีไอ เพราะมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น เป็นสินค้าที่มีเฉพาะท้องถิ่น”

ส่วนการจดทะเบียนจีไอเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานที่เวียดนาม ได้มีการประกาศโฆษณาแล้ว และไม่มีผู้คัดค้าน ซึ่งหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของเวียดนามกำลังดำเนินการรับจดทะเบียน คาดว่าน่าจะได้ข้อยุติในเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน

สำหรับการผลักดันสินค้าจีไอของไทยภายใต้โครงการ 1 จังหวัด 1 จีไอ กรมฯ กำลังพิจารณาขึ้นทะเบียนจีไอสินค้าอีก 2 รายการ คือ มะยงชิดและมะปรางหวาน จ.นครนายก กับทุเรียน จ.ปราจีนบุรี เพราะเป็นสินค้าที่เข้าเงื่อนไขจีไอ และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งกำลังผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม เช่น กล้วยตากบางกระทุ่ง จ.พิษณุโลก เป็นต้น

นางกุลณีกล่าวว่า กรมฯ ได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนเจ้าของสิทธิ์ที่ประกอบธุรกิจในไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ์ได้ขอทราบทิศทางและนโยบายในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และขอให้ช่วยกวดขัน แก้ไขปัญหาการละเมิด โดยเฉพาะการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต และขอให้เร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (USPTO) ประกาศจะยกเลิกความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้กับไทย กรมฯ ได้ทำการชี้แจงไปแล้วว่าการรัฐประหารไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และไม่มีผลกระทบใดๆ โดยไทยยังได้มีการหารือเรื่องนี้ในอาเซียนด้วย ซึ่งอาเซียนเห็นว่าหาก USPTO ไม่ร่วมมือกับไทย อาเซียนก็จะไม่ร่วมมือด้วย และล่าสุดทาง USPTO ได้ยืนยันที่จะร่วมมือกับไทยต่อไปแล้ว

นางกุลณีกล่าวว่า กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับอาเซียนและอียู ในการจัดทำระบบสืบคืนเครื่องหมายการค้าในอาเซียน หรือ ASEAN TMview โดยได้รวบรวมเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สนใจจะยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ช่วยหลีกเลี่ยงการยื่นจดทะเบียนซ้ำกับผู้ที่ยื่นจดไว้แล้ว รวมทั้งเพื่อช่วยในการตรวจสอบว่ามีใครลักลอบนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนไว้ในประเทศอาเซียนอื่น ซึ่งจะได้ดำเนินการทางกฎหมายได้ทันทั้งการป้องกันและปราบปราม

ส่วนความร่วมมือกับอาเซียน กรมฯ จะร่วมกับอาเซียนในการกำหนดแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญารองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เพราะความร่วมมือในอาเซียนจะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของไทยที่ทำการค้ากับอาเซียน รวมทั้งมีแผนที่จะร่วมมือกับคู่เจรจาอื่นๆ ทั้งจีน อียู ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ เกาหลี และการเข้าร่วมเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาในกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัดทำความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับหน่วยงานต่างประเทศเพิ่มอีก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา สปป.ลาว หลังจากที่ได้มีการเซ็น MOU กับหน่วยงานทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศแล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น