“พาณิชย์” ถกทูตพาณิชย์วันนี้ ประเมินเป้าส่งออกปี 57 พร้อมคาดการณ์ปี 57 มั่นใจยอดทั้งปียังเป็นบวกหลังตลาดส่งออกฟื้นตัว ด้านทูตพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังมั่นใจส่งออกทำได้ตามเป้า 5% แต่ยอมรับการเมืองยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นคู่ค้า
นางอัมพวัน พิชาลัย ที่ปรึกษาการพาณิชย์ และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 พ.ค.) ได้มีการประชุมหารือระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่าประเทศ 64 แห่งทั่วโลก ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกและมาตรการเร่งรัดการส่งออกในปี 2557 และปี 2558 หลังจากที่วานนี้ (18 พ.ค.) ได้มีการประชุมหารือกันเป็นรายภูมิภาค เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ไปแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะยังคงขยายตัวเป็นบวก เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น รวมถึงอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย ทำให้การส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ในช่วงที่การเมืองยังมีปัญหายืดเยื้อ และเบื้องต้นทูตพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ที่ 5% ตามเป้าที่ตั้งไว้
นายสุภัฒ สงวนดีกุล ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ญี่ปุ่น กล่าวว่า การเมืองไทยมีผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าในญี่ปุ่น ทำให้คู้ค้ามีการติดตามข้อมูลข่าวสารโดยตลอด แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยมั่นใจว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นจะขยายตัวเป็นบวกประมาณ 2% หรือมูลค่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวติดลบ
นายชูลิต สถาวร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศในยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะเยอรมนี อังกฤษ ที่ฟื้นตัวชัดเจน แต่ฝรั่งเศส และอิตาลีเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ยังต้องจับตาดูว่าจะฟื้นยั่งยืนหรือไม่ แต่ภาพรวมเชื่อว่าการส่งออกไปอียูจะยังโตได้ 5% ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เรื่องไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อาจทำให้แนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าไทยลดลง โดยเฉพาะอาหารทะเล และไก่ จึงต้องเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อหาทางลดภาษี แต่ก็ยากเพราะไม่มีรัฐบาล
นางบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมีความกังวลในสถานการณ์การเมืองของไทยที่ยังไม่ยุติ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว จึงทำให้ผู้ค้ามีความมั่นใจมากขึ้น เพราะการผลิตและส่งออกสินค้าไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ จึงเชื่อว่าการส่งออกของไทยไปจีนน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่า 3 เดือนที่ผ่านมาจะติดลบไป 0.2% เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง
นางเบ็ญจวรรณ อุกฤษ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) ประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ กล่าวว่า นักธุรกิจของสหรัฐฯ มีความกังวลในสถานการณ์การเมืองของไทยบ้าง เพราะยังไม่นิ่ง และอยากเห็นไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ยังไม่กังวลมากจนถึงกับถอนการลงทุน หรือชะลอคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย
นายบูรณ์ อินธิรัตน์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า กล่าวว่า การเมืองมีผลบ้าง เพราะจากการสอบถามของนักลงทุนต้องการให้จบลงโดยเร็วและอยากให้ไทยมีรัฐบาลตัวจริงในการบริหารประเทศ โดยมองว่าน่าจะมีทางออกในที่สุด แต่ในภาพรวมไม่กระทบเป้าหมายการส่งออก โดยปีนี้ส่งออกจะโต 25% จากปีก่อนที่ขยายตัว 21%
นางอุษา ไวยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม กล่าวว่า ปัญหาการเมืองในไทยกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะมีการยกเลิกทัวร์ที่จะมาไทย แต่ภาคส่งออกลดลงบ้างเนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัว โดยยังมั่นใจจะโตได้ 5% ส่วนผลกระทบจากการประท้วงของชาวเวียดนามกับจีนมีโรงงานของไทยปิดตัวชั่วคราวหลายโรง และเชื่อว่าในเร็วๆ นี้คงกลับมาผลิตได้ปกติ
นางวิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย กล่าวว่า การเมืองไทยมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้ผู้ประกอบการอินโดนีเซียบางส่วนระงับการเดินทางมาไทย ซึ่งต้องปรับแผนโดยให้ผู้ประกอบการไทยเดินทางไปเจรจาการค้าที่อินโดนีเซียโดยตรงแทน ส่วนการส่งออก 3 เดือนแรกปีนี้ติดลบถึง 10% แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวดีขึ้น