xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “กลุ่มปฏฺิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” เสนอ 6 ข้อปฏิรูปพลังงานต้านประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดตัวกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน รวมกูรูที่เกี่ยวข้องพลังงานกว่า 30 คนเพื่อหวังเดินหน้าปฏิรูปพลังงานอย่างถูกต้องไม่บิดเบือน เสนอ 6 แนวทางเพื่อให้รัฐบาลใหม่ประกอบการตัดสินใจ หวั่นถูกกระแสสังคมบีบให้เดินไปสู่ประะชานิยมสุดซอย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ค.) เวลา 10.00 น. มีการเปิดตัวกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนซึ่งเกิดจากการรวมตัวของบุคคลที่มาจากหลากหลายอาชีพที่มีความรู้ด้านพลังงานรวมที่เปิดเผยรายชื่อกว่า 30 คน และไม่เปิดเผยชื่ออีกจำนวนหนึ่ง เช่น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต นายพรายพลล คุ้มทรัพย์, นายเมตตา บันเทิงสุข, นายปลิว มังกรกนก, นายมนู เลียวไพโรจน์, นายยรรยง ไทยเจริญ เป็นต้น

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หนึ่งในกลุ่มปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสานด้านพลังงานในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ทำให้เกิดเป็นกระแสสังคมซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวกันเพราะเกรงว่าที่สุดแล้วรัฐบาลที่จะมาใหม่ไม่ว่าเป็นใครจจะถูกกระแสสังคมบีบบังคับให้ใช้นโยบายพลังงานไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่ระยะแรกอาจจะดีต่อประะชาชนแต่ระยะยาวจะสร้างปัญหาใหญ่จนถึงขั้นอาจทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย จึงได้เสนอแนวทางปฏิรูปพลังงาานอย่างยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้

(1) ปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทต่างๆ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ราคาพลังงานเป็นเครื่องมือในการให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการอุดหนุนราคาพลังงาน ควรทำเท่าที่จำเป็นเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่ให้กระทบต่อกลไกตลาด และมีกรอบการใช้เงินที่ชัดเจน
(2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน เพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยให้กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า และให้ บมจ.ปตท.ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่น SPRC ส่วนในกรณีกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ให้แยกออกจาก บมจ.ปตท.เพื่อความโปร่งใสและง่ายแก่การกำกับดูแล และเปิดให้มีการให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือก
(3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดย (1) แยกการกำกับดูแลการกำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างชัดเจน (2) ปรับปรุงระบบการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทที่รัฐถือหุ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของบริษัทชั้นนำของโลก มีความโปร่งใส และให้ประชาชนสามารถรับรู้ได้ (3) ข้าราชการที่ไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกรรมการในบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่ หากมีผลตอบแทนส่วนที่เกินสมควรให้นำส่งคลัง (4) เมื่อแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกไปจาก บมจ.ปตท.แล้ว ให้ลดการถือหุ้นของรัฐใน บมจ.ปตท.ให้ต่ำกว่า 50% และพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดการแทรกแซงจากภายนอก เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพ
(4) ปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต โดยตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบ EIA ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและทำหน้าที่ในการเผยแพร่ที่สมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับ รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบ และกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขออนุญาตในกิจกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน และเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบทางการเมือง
(5) สำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน โดย (1) เพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลและความโปร่งใส ควรให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรมการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI) (2) ตั้งคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับปรุงระบบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในปัจจุบัน ให้ได้ข้อยุติใน 3 เดือน และเดินหน้าเปิดพื้นที่สำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม (3) นำพื้นที่ในภาคเหนือที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (4) เร่งพิจารณาแนวทางในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานในพื้นที่ผลิตที่ไม่สามารถต่อระยะเวลาได้อีก เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 5 ปีก่อนการสิ้นสัมปทาน (5) ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ร่วมกันวางแนวทางและมอบหมายให้มีคณะเจรจาเพื่อเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา ในการเข้าไปสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในทะเล
(6) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดย (1) แก้ไขกฏกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน ให้การผลิตไฟฟ้าเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 เพราะต้องขออนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอยู่แล้ว และยุบเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่วนโครงการ SPP/VSPP ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ให้เจรจาปรับเงื่อนไขและราคารับซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน (2) แก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้สามารถเร่งกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคาร ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น (3) จัดทำแผนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และการจัดหาพลังงานเพื่อใช้ในยานยนต์ อย่างเป็นระบบ

ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปฏิบัติไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล โดยในขั้นแรกรัฐจะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการ ส่วนราชการ ผู้ประกอบการด้านพลังงาน ผู้ใช้พลังงาน และภาคประชาชน ทั้งนี้ต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร โดยผู้ร่วมแสดงความเห็นต้องเปิดใจฟังความเห็นของผู้อื่น การปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืน (www.energyreform.in.th) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ยอมฟังความเห็นที่แตกต่างกัน แต่กลับใส่ร้ายป้ายสีผู้ที่คิดต่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น