“เรกูเลเตอร์” เร่งประสาน กฟผ.-กฟภ.และ ส.อ.ท.รับมือก๊าซ JDA หยุดจ่าย 28 วันช่วง 13 มิ.ย.-10 ก.ค.นี้ รับหากใช้ไฟสูงสุดเกิน 2.5 พันเมกะวัตต์เสี่ยงต้องดับไฟภาคใต้บางพื้นที่ กฟภ.เผยกำหนดดับไฟหากเกิดวิกฤตจริง 19 จุด จุดละไม่เกิน 1 ชม.ไล่จากรอบนอกก่อน หวังอุตฯ 11 กลุ่ม ส.อ.ท.ภาคใต้และคนใต้ช่วยลดใช้ไฟช่วงดังกล่าวกู้วิกฤตไม่ให้ไฟดับซ้ำรอยเดิม
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เรกูเลเตอร์ได้ประสานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นภาคการผลิตเพื่อร่วมลดใช้ไฟฟ้ารองรับกรณีที่ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย แหล่ง JDA-A18 จะดำเนินการปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557 นี้ รวม 28 วัน โดยยอมรับว่าหากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ภาคใต้เกิน 2,543 เมกะวัตต์จะมีความเสี่ยงต้องดับไฟ (ลดโหลด) บางพื้นที่เพื่อรับมือ ซึ่งทุกส่วนจะพยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ JDA หยุดจะทำให้ก๊าซฯ หายไป 420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลาต้องหยุดทันทีไป 710 เมกะวัตต์ ทำให้การผลิตไฟในภาคใต้อยู่ที่ 2,306 เมกะวัตต์ แต่คาดว่าพีกสูงสุดจะอยู่ที่ 2,400 เมกะวัตต์ ภาคใต้จะเสี่ยงในช่วงพีกเวลา 18.30-22.30 น. และกรณีวันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 2,543 เมกกะวัตต์ ระบบไฟฟ้าภาคใต้จะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมในช่วงบ่ายเวลา 13.30-15.30 น. ดังนั้นไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงจะเห็นว่าจะขาดไปราว 250 เมกะวัตต์ จึงต้องหาแผนรับมือไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ให้เอกชนภาคใต้ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ลดใช้ไฟ 250 เมกะวัตต์ 2. รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตรายเล็กหรือ SPP ภาคใต้ 10 เมกะวัตต์ และ 3. กรณีไฟไม่พอที่สุดจะให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำการปลดโหลดหรือเลือกดับไฟบางพื้นที่ใน 19 ระดับ 19 จุดสลับกันไปจุดละ 50 เมกะวัตต์ต่อ 1 ชั่วโมง
นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการเรกูเลเตอร์กล่าวกรณีเจดีเอไฟหายไป 200 กว่าเมกะวัตต์หากต้องดับไฟดังกล่าวจะทำให้สูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจ 30-40 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้นการลดใช้ไฟจากเอกชนและคนในพื้นที่จะช่วยได้มากสุด ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงฟุตบอลโลกจึงขอความร่วมมือประชาชนดูทีวีแบบร่วมกันดูก็จะช่วยประหยัดได้อีกทาง
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจริงๆ พีกที่ใต้อยู่ที่ 2,550 เมกะวัตต์ เนื่องจากการใช้ไฟภาคใต้จะเติบโตทุกปีแต่ผลิตได้ 2,300 เมกะวัตต์ ช่วงนี้จึงทำให้ขาดไฟสำรองประมาณ 250 เมกะวัตต์ จึงจำเป็นจะต้องขอความร่วมมือการลดใช้ไฟช่วงพีกเพื่อไม่ให้การส่งไฟจากภาคกลางมายังสายส่งภาคใต้เกินมาตรฐานซึ่งปกติจะต้องไม่ 950 เมกกะวัตต์ แต่หากมีแนวโน้มมากกว่านี้ ทาง กฟผ.จะดำเนินการประสานไปยัง กฟภ.เพื่อหมุนเวียนดับไฟฟ้าบางส่วนตามแผนที่จัดเตรียมไว้
“เราเองเตรียมพร้อมทั้งระบบผลิต ระบบส่ง รวมถึงการจัดสำรองน้ำมันเตา 39 ล้านลิตร ดีเซล 9 ล้านลิตร หากใช้หมดนี้ก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ไม่เกิน 1.8 สตางค์ต่อหน่วย” นายสุนชัยกล่าว
นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการ กฟภ.กล่าวว่า หาก กฟผ.ประสานให้ปรับโหลดหรือดับไฟพื้นที่ กฟภ.ก็เตรียมรองรับไว้แล้วใน 19 กลุ่มพื้นที่สลับกันไปแต่ละแห่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง และพื้นที่ที่จะเลือกดับก่อนจะเป็นรอบนอกชนบทห่างไกลที่ไม่มีบ้านคนหรือมีน้อยสุดก่อน แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาในเขตเมือง โดยสถานที่สำคัญเช่น โรงพยบาล สถานีตำรวจ ศาลากลางจังหวัด ฯลฯ จะไม่ดับ และยังมีรถเคลื่อนที่สำหรับปั่นไฟเป็นเครื่องกำเนิดสำรองไว้กรณีฉุกเฉินอีกด้วย
นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หลังจากนี้จะไปหารือกันในสมาชิกใกล้ชิดซึ่งขณะนี้ทางเอกชนภาคใต้ ส.อ.ท.ก็ให้ความร่วมมือ รวมถึงที่ไม่เป็นสมาชิกด้วย โดยตั้งเป้าไว้ที่ 11 กลุ่มอุตฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะลดใช้ไฟได้ 250 เมกะวัตต์