xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเรื้อรังฉุดอีเวนต์-คอนเสิร์ตวูบ “อาร์เอส-แกรมมี่” กุมขมับลุ้นครึ่งปีหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติ ถือเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ต ซึ่งที่ผ่านมาสองธุรกิจนี้ยังไปได้ดีอยู่ และมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่พอมาถึงปีนี้กลับพบว่าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาทั้งอีเวนต์และคอนเสิร์ตกลับดูเงียบลง ส่วนสำคัญมาจากปัญหาทางการเมืองและการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ที่ยังเรื้อรัง มีการกระจายการชุมนุมไปในจุดต่างๆ ซึ่งแต่ละจุดเป็นจุดที่ทำให้งานอีเวนต์และคอนเสิร์ตไม่สะดวกที่จะจัดขึ้นได้ เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน และเมืองทองธานี หลักสี่ เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอีเวนต์และคอนเสิร์ตในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาหายไปกว่า 50%

นายคมกริช ศิริรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 56-มี.ค.57พบว่ามีการเลื่อนและยกเลิกจัดคอนเสิร์ตไปกว่า 50 งานและเป็นการยกเลิกแบบไม่มีกำหนดถึง 25 งาน จากปกติช่วงไตรมาสหนึ่งจะเป็นช่วงที่มีการจัดคอนเสิร์ตไม่มากนัก หรือมีการจัดงานคอนเสิร์ตทั่วประเทศราว 100 งานเท่านั้น พบว่าขณะนี้เหลืออยู่เพียง 50 งานเท่านั้น ซึ่งในต่างจังหวัดยังดีอยู่แต่ในกรุงเทพฯ หายไปกว่า 50% โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต่างประเทศ เช่น อีริก แคลปตัน ที่ยกเลิกไปเลย เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองของไทย แต่คอนเสิร์ตไทยยังพร้อมจัดขึ้นแต่จะเลื่อนไปจัดหลังไตรมาสสองถึงสามแทน

สำหรับบีอีซี-เทโรถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายหนึ่งในการจัดงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์ทั้งแบบจัดขึ้นเองและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงไตรมาสหนึ่งนี้จะไม่ค่อยมีงานมากนัก แต่ครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะมีการจัดงานขึ้นมาอีกหลายงานภายใต้การปรับแผนการจัดงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และน่าจะมีจำนวนงานมากกว่าปีก่อน

ภาพรวมคอนเสิร์ตในปี 2557 เชื่อว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้หลังเดือน เม.ยนี้เป็นต้นไปและครึ่งปีหลังจะมีการจัดคอนเสิร์ตขึ้นแบบติดๆ กันหลายงาน ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่จัดงานค่อนข้างเต็มตามมา รวมถึงปัญหาด้านกำลังซื้อ ถึงแม้ว่าจะเริ่มเห็นกำลังซื้อหันมาซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตมากขึ้นบ้างแล้วในช่วงนี้ แต่ในครึ่งปีหลังที่จะมีหลายคอนเสิร์ตอาจจะทำให้ผู้ชมมีกำลังซื้อไม่เพียงพอที่จะสามารถซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตทุกคอนเสิร์ตที่ต้องการได้ โดยรวมแล้วถึงสิ้นปีนี้คอนเสิร์ตน่าจะยังเติบโตได้ 10% เท่าปีก่อน มาจากคอนเสิร์ตไทย 70%และต่างประเทศ 30%

• ค่ายเพลงแตะเบรกจัดคอนเสิร์ต •

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสถือเป็นผู้เล่นที่สำคัญที่ทำให้ภาพรวมงานคอนเสิร์ตแต่ละปีมีความคึกคักอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการนำเอาศิลปินในยุค 90 กลับมาขึ้นคอนเสิร์ตอีกครั้ง แต่สำหรับปีนี้ทั้งสองค่ายยังคงเก็บตัวเงียบ ส่วนสำคัญมาจากปัญหาทางการเมืองเป็นหลักที่ทำให้ต้องชะลอแผนการจัดงานคอนเสิร์ตของปีนี้ออกไปก่อน และเน้นจัดคอนเสิร์ตที่เลื่อนมาจากช่วงปลายปีก่อนและต้นปีที่ผ่านมาแทน

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงแผนงานปี 57 ในส่วนของโชว์บิซไว้ว่า ปีนี้บริษัทวางเป้ารายได้จากธุรกิจโชว์บิซหรืองานแสดงคอนเสิร์ตไว้ 700 ล้านบาท หรือน่าจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ 3-4 งาน โดยจะเริ่มเห็นในช่วงไตรมาสสองเป็นต้นไป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าว่าปีนี้ทางอาร์เอสจะมีคอนเสิร์ตใหญ่เกิดขึ้นกี่งาน เพราะ ณ เวลานี้ต้องยอมรับว่าอาร์เอสกำลังปักธงลุยบริหารคอนเทนต์บอลโลก และช่อง 8 ที่ก้าวสู่ความเป็นดิจิตอลทีวีในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้เป็นหลัก เพราะเป็นธุรกิจหลักที่จะขับเคลื่อนรายได้ของอาร์เอสต่อไป

ส่วนทางด้านแกรมมี่ ปีนี้ยังไม่พบแผนจัดคอนเสิร์ตใหม่ๆ เช่นกัน ทั้งจากทางแกรมมี่ ไลฟ์ และทางเอ-ไทม์ จากปกติจะจัดขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-4 คอนเสิร์ตเช่นกัน ขณะที่คอนเสิร์ตที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ล้วนแต่เป็นคอนเสิร์ตที่เลื่อนจัดมาตั้งแต่ปลายปีก่อนหรือช่วงต้นปีที่ผ่านมาแทน ซึ่งจะทยอยจัดขึ้นหลังช่วงไตรมาสสองเป็นต้นไป ได้แก่ 1.คอนเสิร์ต Nantida. The Show Must Go On 30 ปี บนเวทีที่เธอรัก กับคนที่รักเธอ เดิมจัดวันที่ 1 ก.พ. 57 มาเป็น 12 ก.ค.นี้ 2.คอนเสิร์ตสามแยกปากหวาน Episode 3 เดิมจัด 1 ก.พ. 57 เลื่อนมาจัด 13 ก.ค. 57 แทน และ 3.คอนเสิร์ต ขนนกกับดอกไม้ The Original Returns เลื่อนมาจัดในวันที่ 30-31 ส.ค.นี้

• จับตาการเมืองครึ่งปีหลังฉุดอีเวนต์ร่วง 30% •

นอกจากผู้จัดงานคอนเสิร์ตที่ได้รับผลกระทบแล้ว ในส่วนของภาคธุรกิจเอง ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาได้งดการจัดอีเวนต์และกิจกรรมส่งเสริมการขายภายในศูนย์การค้าเกือบ 100% เช่นกัน โดยเฉพาะศูนย์การค้าที่ใกล้การชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ไตรมาสแรกตลาดอีเวนต์ตกลงไป 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายเกรียงไกร กาญจนโภคิน ประธานเจ้าหน้าบริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมาจำนวนงานอีเวนต์มีน้อยมาก หรือลดลง 10% จากช่วงปกติ คิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 330-400 ล้านบาท โดยลูกค้าขอเลื่อนงานออกไป และยกเลิกในภายหลัง ในส่วนของอินเด็กซ์เองมีงานอีเวนต์ที่ถูกยกเลิกไปบ้างเช่นกัน ส่วนในไตรมาสสองนี้ได้ยกเลิกจัดงานอีเวนต์สงกรานต์ไปแล้ว 1 งาน ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาพรวมธุรกิจอีเวนต์มูลค่า 13,500 ล้านบาทในปีนี้จะมีแนวโน้มลดลงถึง 30% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 6 ปี

• ห้างฯ หวังพึ่งอีเวนต์สงกรานต์ดึงลูกค้า •

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของศูนย์การค้าเองนั้นยังฝากความหวังไว้ที่อีเวนต์สงกรานต์ว่าจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยกลับมาดีขึ้น โดยทางซีพีเอ็น หรือบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โดย ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด กล่าวว่า ทางบริษัทเตรียมจัดงานสงกรานต์ในศูนย์การค้ารวมกว่า 10 แห่งทั่วประเทศมากกว่าปีก่อนที่จัดไป 5-6 แห่งเพื่อต้องการดึงฐานนักท่องเที่ยวกลับมา เน้นสาขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลขอนแก่น, เซ็นทรัลอุดรธานี, เซ็นทรัลอุบลราชธานี, เซ็นทรัลพัทยา และเซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี เป็นต้น มั่นใจว่าช่วงที่จัดกิจกรรมจะมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น 20-30% หรือทำให้เซ็นทรัลเวิลด์กลับมามีจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่ 1.5 แสนคนต่อวันอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไป

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้สูงว่าหลังไตรมาสสองเป็นต้นไปอีเวนต์และคอนเสิร์ตจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากการกระตุ้นของภาคเอกชน เจ้าของสินค้า และศูนย์การค้า ส่วนงานคอนเสิร์ตใหม่ๆ เริ่มทยอยออกมาให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดชานเมือง กทม.หรือต่างจังหวัดเป็นหลัก ดังนั้นแนวโน้มคอนเสิร์ตจะกลับมาโต 10% จึงมีความเป็นไปได้สูงภายใต้สถานการณ์ปกติ หรือไม่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น ส่วนอีเวนต์นั้นคงต้องฝากความหวังไว้กับเทศกาลสงกรานต์นี้ และช่วงบอลโลกอีกครั้ง ว่าจะดึงให้งานอีเวนต์กลับมาคึกคักและเติบโตเท่าปีก่อนได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น