xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” โชว์แผนบูมตลาดอาเซียน มอง 10 ประเทศเป็นหนึ่งเดียวรับเปิด AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันตลาดอาเซียนได้กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของยอดการส่งออกรวมทั้งหมด นำหน้าตลาดเดิมอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป และยังมีแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศตามยุทธศาสตร์ ASEAN First Policy ที่ส่งผลให้ตลาดอาเซียนเติบโตวันเติบโตคืน

ไม่เพียงแค่นั้น ตลาดอาเซียนยังเป็นตลาดที่ใกล้ชิดกับไทยมากที่สุดในฐานะมิตรประเทศ มีความใกล้ชิดทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ความใกล้เคียงกันด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ภายใต้การรวมกลุ่มที่กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้านี้

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้เตรียมแผนการบุกเจาะตลาดอาเซียนไว้เป็นการเฉพาะ ในฐานะที่เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และเป็นตลาดที่กำลังจะรวมกลุ่มเป็น AEC ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น เพราะอาเซียนจะเป็นตลาดใหญ่ที่มี 10 ประเทศรวมกันเป็นตลาดเดียว มีประชากรรองรับกว่า 600 ล้านคน

โดยแผนในการบุกเจาะตลาดอาเซียนรองรับ AEC กรมฯ จะเริ่มจากการปรับมุมมองของภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ด้วยแนวคิด “Localized AEC” โดยมอง AEC เป็นเขตแดนการค้า และการใช้ประโยชน์จาก Economies of Scale ที่จะให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตให้สินค้าไทย โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุน ร่วมทุน ในสาขาที่ไทยขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน

นอกจากนี้ จะเน้นการส่งเสริมและพัฒนาการค้าชายแดนไปสู่การใช้อาเซียนเป็น “Marketing Arms” ในการขยายตลาดไปยังประเทศที่สาม เช่น เวียดนาม จีนตอนใต้ และอินเดีย รวมทั้งใช้ประโยชน์จากอาเซียนบางประเทศที่ยังคงได้สิทธิประโยชน์จากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไทยไม่ได้รับสิทธิ์แล้ว

ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้ไทยเข้าไปขยายธุรกิจบริการในประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเน้นธุรกิจบริการที่มีศักยภาพและมีจุดแข็ง และผลักดันให้ผู้ผลิตของไทยมีการออกแบบและพัฒนาตราสินค้าเป็นของตัวเองเพื่อเจาะตลาดอาเซียนให้มากขึ้น

“ตลาดที่กรมฯ จะเน้นหลักๆ ก็คือกลุ่ม CLMV หรือกัมพูชา เวียดนาม พม่า และลาว ประเทศเหล่านี้เป็นอาเซียนใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายตัว ทั้งทางด้านการค้าสินค้า การเข้าไปลงทุน ซึ่งมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมาก ซึ่งกรมฯ เองก็มีกิจกรรมที่เน้นการพา SMEs บุกเจาะตลาดเหล่านี้เป็นพิเศษด้วย” นางนันทวัลย์กล่าว

สำหรับกิจกรรมที่จะนำมาใช้สนับสนุน SMEs เข้าสู่ตลาดอาเซียน กรมฯ ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Business Support Center เปิดแล้ว 10 ศูนย์ใน 8 ประเทศอาเซียน มีหน้าที่ให้บริการด้านข้อมูลการค้า การลงทุนเกี่ยวกับอาเซียนทั้งหมด ตลอดจนให้คำปรึกษาเชิงลึก การนัดหมายผู้นำเข้า และการช่วยหาวัตถุดิบ

ขณะเดียวกัน จะผลักดันให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากชมรมนักธุรกิจไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ DITP AEC Club เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ โดยสมาชิกปัจจุบันมี 750 ราย ซึ่งกรมฯ ได้จัดกิจกรรมการให้ความรู้ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก โดยมีภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจการค้าในต่างประเทศแล้วมาร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกและคำปรึกษารายตลาด รวมไปถึงการจัดกิจกรรมภาคสนามอย่าง AEC Business Matching & Networking จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเจาะลึกรายบริษัท การพบปะทูตพาณิชย์ผ่าน VDO Conference เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาธุรกิจสู่สากล หรือ Business Mentoring Center เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในรูปแบบพี่เลี้ยงทางธุรกิจ โดยการให้ข้อมูล การปรึกษาและรับฟังคำแนะนำจาก Mentor ในเชิงลึกเกี่ยวกับการวิเคราะห์ศักยภาพตลาด สินค้า และวิธีการเข้าสู่ตลาดเป้าหมาย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะนำร่องที่ประเทศพม่า

นางนันทวัลย์กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมเร่งรัดการส่งออกของกรมฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ในตลาดอาเซียนจะเน้นการจัดงานแสดงสินค้าไทย การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้า และการจัดกิจกรรมโปรโมตสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าในอาเซียน ดังนี้

งานแสดงสินค้าไทย (Thailand Week) จะจัดจำนวน 9 ครั้ง ณ กรุงย่างกุ้ง กรุงโฮจิมินห์ ฮานอย กรุงมะนิลา กรุงกัวลาลัมเปอร์ กรุงพนมเปญ กรุงเวียงจันทน์ สิงคโปร์ กรุงจาการ์ตา และเมืองสุราบายา

การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า จำนวน 7 งาน ได้แก่ งาน Communicasia (สิงคโปร์) งาน Metalex Vietnam, Manufacturing Indonesia, Cambodia Import-Export & OPOP Exhibition,Malaysian International Food & Beverage Trade Fair (MIFB), Jakarta Fashion Week, Malaysia International Shoe Festival

โครงการคณะผู้แทนการค้า จะจัดจำนวน 13 โครงการ ได้แก่ เวียดนาม (อาหาร สินค้าเกษตร) พม่า (ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าแฟชั่น) อินโดนีเซีย (เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรกล) ฟิลิปปินส์ (เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรกล) ลาว (เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้างและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าเกษตรอาหาร สินค้าเกษตร) กัมพูชา (เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้างและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์พลาสติก)

ส่วนกิจกรรม In-store Promotion จะจัด 5 โครงการใน 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (อาหาร) อินโดนีเซีย (อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้) กัมพูชา (ผลไม้สด) สิงคโปร์ (อาหาร ผัก ผลไม้ ข้าว ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น เครื่องประดับ)

กิจกรรมทั้งหมดนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ที่สนใจตลาดอาเซียนสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากกรมฯ เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทุกราย เพราะตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญที่กรมฯ จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น