xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานส่งซิกรัฐบาลรับมือเปิด AEC “น้ำตาล”บริโภคในประเทศมีโอกาสขาด

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการรายวัน - โรงงานน้ำตาลส่งสัญญาณภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรับการก้าวสู่ AEC ปี 2558 เผยหากไม่ทำอะไรเลยและปล่อยไว้เช่นปัจจุบันมีโอกาสที่จะเห็นน้ำตาลบริโภคในประเทศขาดแคลน เหตุจะไหลออกไปเพื่อนบ้านเนื่องจากราคาไทยต่ำกว่ามาก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลและชาวไร่ได้หารือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะเตรียมข้อมูลและรายละเอียดแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยโดยเฉพาะการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายสะท้อนกลไกตลาดโลกเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการให้ทันกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 เนื่องจากมีความกังวลว่าหากไม่ได้ดำเนินการใดๆ เลยประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบด้านปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศที่มีโอกาสขาดแคลน

“เมื่อเปิด AEC ซึ่งเริ่มปลายปี 2558 นั่นหมายถึงภาษีต่างๆ จะหมดลงทุกอย่างเป็นฟรีเทรด ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องมามองแล้วว่าจะทำอย่างไรกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านราคาน้ำตาลทรายขาวเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 30 กว่าบาทจนถึง 45 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)แต่ไทยกำหนดราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไว้ที่กก.ละ 22.85 บาทแต่ถ้าบรรจุถุงกำหนดไว้ที่ 23.50 บาทต่อ กก.ในเขต กทม.และปริมณฑลซึ่งจะเห็นว่าต่ำกว่าเพื่อนบ้านมากหากเปิดเสรีน้ำตาลทรายของไทยย่อมถูกขนออกตามแนวชายแดนได้”นายสิริวุทธิ์กล่าว

ปัจจุบันระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดโควตาน้ำตาลบริโภคภายในประเทศหรือโควตา ก.ไว้เพื่อกันปัญหาการขาดแคลนโดยจะจัดสรรเพื่อให้การบริโภคในประเทศเพียงพอแต่ส่วนนี้รัฐบาลได้กำหนดราคาตายตัวมานับตั้งปี 2551 ที่มีการปรับขึ้นราคา 5บาทต่อ กก.เพื่อนำเข้าไปยังกองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้หนี้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรละสหกรณ์หรือ ธ.ก.ส.ที่กู้เพื่อช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ในฤดูการผลิตที่ไม่คุ้มทุน ซึ่งหากเข้าสู่ AEC ยังมีประเด็นหลายอย่างที่ต้องคิดกล่าวคือ โควตา ก.แม้ว่าจะกำหนดไว้แต่หากตลาดน้ำตาลเสรีเมื่อราคาไทยต่ำกว่ามากย่อมไหลออกประเทศเพื่อนบ้านแล้วเกิดภาวะขาดแคลนรัฐบาลจะนำน้ำตาลจากที่ใดมาป้อนเพราะการซื้อขายน้ำตาลเป็นตลาดล่วงหน้าหากให้โรงงานซื้อกลับมาในราคาสูงส่วนต่างรัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่น้ำตาลตลาดโลกแพง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการยกเลิกเงิน 5 บาทต่อ กก.เข้ากองทุนฯ ที่ผ่านมาหากพิจารณาในแง่ของการปรับขึ้นราคาดังกล่าวตามระเบียบจริงๆ เงินดังกล่าวจะต้องแบ่งตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างโรงงานและชาวไร่ 70:30 แต่ทั้งหมดกลับเข้ากองทุนฯ หมดเพื่อใช้หนี้ชาวไร่อ้อยแต่โรงงานไม่ได้ แถมมีหน้าที่เก็บเงินดังกล่าวส่งให้ด้วยซึ่งจุดนี้ที่ผ่านมาฝ่ายราชการไม่เคยพูดถึง และประเด็นเมือจะปลดล็อกเงินดังกล่าวออกเพื่อนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ถึงตอนนั้นถามว่าหากราคาตลาดโลกตกต่ำการปลดล็อกออกแล้วอิงตลาดโลกก็ยิ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายไทยยังคงต่ำกว่าเพื่อนบ้านไปอีกซึ่งปัญหานี้ทั้งโรงงานและชาวไร่เข้าใจดี

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเป็นการเมือง การเมืองอยากได้คะแนนกับชาวไร่ให้เป็นฐานเสียงการขึ้นราคาน้ำตาลที่ผ่านมา 5 บาทต่อ กก.จึงเข้ากองทุนฯ หมดแทนที่จะเป็นการทยอยปรับโครงสร้างให้น้ำตาลสะท้อนต้นทุนแล้วไม่ต้องไปบีบให้ชาวไร่ไปกู้ ธ.ก.ส.โดยผ่านกองทุนฯ ให้เป็นหนี้แล้วกดให้ราคาอ้อยตกต่ำเป็นระบบทอดๆ ไป ปัญหาเหล่านี้หากไม่วางโครงสร้างเอาไว้ประเทศไทยจะมีปัญหาแน่ ผมเชื่อว่าวันนี้ชาวไร่เองก็เข้าใจ แต่ฝ่ายราชการเองกลับไม่กล้าตัดสินใจเรื่องนี้ ซึ่งผู้บริโภคเองควรจะต้องยอมรับว่าราคาควรจะสะท้อนกลไกตลาดโลกเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ”นายสิริวุทธิ์กล่าว

สำหรับความเคลื่อนไหวราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ประมาณ 18.2 เซนต์ต่อปอนด์(ประมาณ 13 บาท/กก.) จากเดิมที่ราคาได้ร่วงตกไปถึงระดับ 14 เซนต์ต่อปอนด์(ประมาณ 10 บาท/กก.) ในช่วง ก.พ.เนื่องจากมีกระแสข่าวถึงปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายจากอินเดียจะมีเพิ่มเข้ามายังตลาดโลก แต่ปรากฏว่าน้ำตาลในประเทศอินเดียกลับมีไม่เพียงพอกับการส่งออกตามข่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายของบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 1 นั้นคาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 16 เซนต์ต่อปอนด์ (ประมาณ 11.61 บาท/กก.) ดังนั้นจึงเชื่อว่าความเคลื่อนไหวน้ำตาลทรายตลาดโลกหากไม่มีข่าวลือใดๆ หรือเศรษฐกิจชะลอตัวหนักราคาน้ำตาลทรายดิบก็น่าจะเคลื่อนไหวในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 16 เซนต์ต่อปอนด์ โดยสถิติสูงสุดน้ำตาลทรายดิบเคยทำราคาไว้เมื่อปี 2555 สูงถึง 34.5 เซนต์ต่อปอนด์(ประมาณ 25 บาท/กก.)
กำลังโหลดความคิดเห็น