ดอนเมืองเล็งพัฒนาศักยภาพเพิ่ม หลังขยายขีดวามสามารถเฟส 4 ลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาทสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ 39 ล้านคนต่อปี เตรียมหารือกองทัพอากาศ, บวท.และสายการบิน เชื่อมแท็กซี่เวย์ หัวรันเวย์สองฝั่งรองรับจาก 40 เที่ยวบินเป็น 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี
ทิศทางการเติบโตของผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินและการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้เร่งแผนการลงทุนเพื่อขยายขีดความสามารถของสนามบินทั้ง 6 แห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยเฉพาะ 3 สนามบินหลัก คือ การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะ 2 วงเงินลงทุน 6.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี พัฒนาสนามบินภูเก็ตระยะ 2 วงเงินลงทุน 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 6.5 ล้านคนเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี และพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะ 2, 3 ของสนามบินดอนเมือง วงเงินลงทุนรวม 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 18.5 ล้านคนเป็น 39 ล้านคนต่อปี โดยจะแล้วเสร็จในปี 2559
ซึ่งจากการดำเนินงานปรับปรุงขยายขีดความสามารถพบว่า การพัฒนาของสนามบินดอนเมืองมีข้อติดขัดน้อยที่สุดแม้จะแล้วเสร็จช้ากว่าแผนแต่ก็ไม่มากนัก โดยแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 2 วงเงิน 3,304 ล้านบาท ประกอบด้วย งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 งานติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า งานระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบไอที งานซ่อมแซมทางเชื่อม South Corridor งานซ่อมอาคารสะพานเทียบเครื่องบินหมายเลข 5 เป็นต้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 10% ซึ่งล่าช้ากว่าแผน โดยเลื่อนกำหนดเปิดใช้จากเดือนเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนตุลาคม 2557
โดยว่าที่เรืออากาศโท จตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้การปรับปรุงอาคาร 2 ล่าช้าว่า เกิดจากเมื่อลงมือรื้ออาคารเดิมออก พบว่ามีส่วนที่เสียหายมากกว่าที่ประมาณการไว้ เพราะอาคารไม่ได้ใช้งานมากว่า 5 ปี และยังถูกน้ำท่วมอีกด้วย วัสดุหลายอย่างที่คิดว่าจะใช้ต่อได้กลับใช้ไม่ได้ เช่น พวกท่อแอร์ต้องรื้อทิ้งหมดจึงต้องเสียเวลาออกแบบและแก้ไขรายการที่จะปรับปรุงใหม่ โดยไม่มีผลกระทบต่อวงเงินลงทุนซึ่งใช้จริงประมาณ 2,600 ล้านบาทซึ่งไม่เกินกรอบที่ได้รับอนุมัติไว้
“อาคาร 2 ถูกทิ้งไว้นานการคาดการณ์จึงผิดพลาดไป ก็ต้องทำรายละเอียดการปรับปรุงกันใหม่ออกแบบ ปรับรายการใหม่ หรือเช่นการปรับปรุงห้องน้ำที่ตกลงกับทาง SCG ไว้แล้วจะเข้ามาทำการออกแบบปรับปรุงใหม่ให้ทั้งที่อาคาร 1 และ 2 วงเงิน 250 ล้านบาท แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ได้มาบอกยกเลิก ก็ต้องมาออกแบบทำรายการใหม่ ซึ่งจะเร่งรัดงาน โดยการแยกผู้รับจ้างแต่ละงานออกไป”
โดยมั่นใจว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อาคาร 2 จะเปิดให้บริการได้แน่นอน ในส่วนของพื้นที่บริการผู้โดยสาร คือ เช็กอินชั้น 3 ผู้โดยสารขาเข้าชั้น 1 พื้นที่ร้านค้า ชั้น 4 อาจจะเหลือชั้น 2 ที่เป็นสำนักงานสายการบินจะเสร็จทีหลัง ซึ่งเมื่อเปิดใช้อาคาร 2 จะย้ายเคาน์เตอร์ สายการบินแอร์เอเชียที่อยู่ด้านเหนือของอาคาร 1 แถวที่ 1-4 ไปให้บริการที่อาคาร 2 ก่อน เพื่อเปิดพื้นที่อาคาร 1 ดังกล่าว ทำการปรับปรุงตามแผนพัฒนาระยะ 3 ต่อไป
ซึ่งแผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 ใหม่ทั้งหมด เปลื่ยนบันไดเลื่อน ระบบสายพานกระเป๋า ซื้อเครื่อง X-ray ใหม่และย้ายไปติดตั้งด้านหลังเคาน์เตอร์เช็กอิน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยปิดเคาน์เตอร์เช็กอิน แถว 1-4 ไปให้บริการที่อาคาร 2 ที่จะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้จะมีการซ่อมบำรุง (Overlay) รันเวย์ครั้งใหญ่ ปรับปรุงระบบไฟสนามบิน ปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน North Corridor, South Corridor, อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6, ต่อเติมลานจอดระยะไกล, ขยายไหล่ทางวิ่งฝั่งตะวันตก และทางขับ, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเก่าเพื่อรองรับเครื่องบินที่เปลี่ยนสถานที่บินลง (divert) หรือศูนย์กรณีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2559 เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารเป็น 39 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะ 4 วงเงินลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในรูปแบบ Juntion Terminal บริเวณที่ว่างระหว่างอาคารจอดรถ 7 ชั้นกับอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ วงเงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมกับการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 3, 4 เป็นสำนักงาน (Airport office), ศูนย์การเรียนรู้, โรงเรียนด้านการบินต่างๆ และชอปปิ้งมอลล์ วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการศีกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอขออนุมัติแผนดำเนินงานและการลงทุนต่อไป
โดยอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Juntion Terminal) จะให้เป็นอาคารสำหรับการเชื่อมต่อระบบราง ซึ่งระบบจะต่อเชื่อมกับรถไฟสายสีแดงและสีเขียว โดยภายในอาคารจะมีระบบอัตโนมัติสำหรับผู้โดยสาร สามารถเช็กอิน โหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง ส่วนด้านล่างของอาคารจะเป็นศูนย์รวมระบบขนส่งทุกประเภท รถเมล์ แท็กซี่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 150,000 ตารางเมตร ส่วนคลังสินค้า 3, 4 ที่จะนำมาปรับปรุงนั้นจะไม่กระทบต่อการให้บริการด้านขนส่งสินค้า เนื่องจากปัจจุบันคลังสินค้าของดอนเมืองรองรับได้ 800,000 ตันต่อปี หากลดพื้นที่ลงครึ่งหนึ่งยังรองรับสินค้าได้ถึง 400,000 ตันต่อปี ขณะที่ปัจจุบันมีสินค้าเพียง 10,000 ตันต่อปีเท่านั้น โดยคาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ตันต่อปี
ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมืองกล่าวว่า หากจะทำให้ดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 39 ล้านคนต่อปีนั้นจะต้องหาทางเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของรันเวย์ ซึ่งตามผลศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พบว่าควรต่อทางขับ (แท็กซี่เวย์) ด้านเหนือของรันเวย์ฝั่งตะวันตกเชื่อมกับด้านเหนือของทางวิ่ง (รันเวย์) ฝั่งตะวันออกจะทำให้รันเวย์ของดอนเมืองรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 40 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าเมื่อเที่ยวบินขึ้นลงได้มากขึ้น จำนวนผู้โดยสารก็จะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี โดยใช้อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พัฒนาตามแผนระยะ 3 รองรับได้เพียงพอ
“การต่อแท็กซี่เวย์ทำง่ายกว่าสร้างรันเวย์เพิ่ม เพราะไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีพื้นที่เพียงพอ ขึ้นกับว่าจะมีเงินลงทุนหรือไม่ รวมถึงจะต้องหารือกับกองทัพอากาศ,บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และสายการบินว่าจะเห็นด้วยหรือไม่”
โดยปัจจุบันดอนเมืองมีสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ทำการบินประจำ 7 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย, อินโดนีเซีย แอร์เอเชีย, แอร์เอเชีย, โอเรียนท์ ไทย, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ และสยาม จีเอ ซึ่งทำการบินในเส้นทางระยะใกล้ถึงระยะกลาง โดยมีเที่ยวบินประจำ 47 จุดบิน แบ่งเป็น 23 จุดบินทั่วประเทศไทย และ 24 จุดบินระหว่างประเทศ