ไออาร์พีซีลั่นปีนี้กำไรสูงกว่าปีก่อนที่ 826 ล้านบาท เหตุ GIM เพิ่มขึ้น 2.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แย้มไตรมาสแรกยังพลาดเป้า เร่งรัดโครงการ DELTA เผยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนธุรกิจต่างๆ เพื่อเลือกธุรกิจหลักที่มีศักยภาพแข่งขันได้ ส่วนธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันก็คงต้องปิดไป คาดปลายปีนี้ได้ข้อสรุป
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ มั่นใจว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 826 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) ปีนี้เพิ่มขึ้น 2.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจากปีก่อนที่มี GIM อยู่ 7 เหรียญสหรัฐ ซึ่งมาจากค่าการกลั่นเฉลี่ยราคาตลาด (Market GIM) 1.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และโครงการ DELTA 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกปีนี้บริษัทจะมี GIM ใกล้เคียงปีก่อนที่ 7 เหรียญ/บาร์เรล ต่ำกว่าเป้าหมายในปีนี้ แต่ดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมัน รวมทั้งปีนี้บริษัทมีแผนขายที่ดินอีก 100-200 ไร่ในนิคมฯ บ้านค่าย และในเขตประกอบอุตสาหกรรมไออาร์พีซี (ECO Industrial Zone) ที่เชิงเนิน จังหวัดระยอง
“แม้ว่าในไตรมาสแรกที่ผ่านมาผลประกอบการยังไม่ดีเท่าที่ควร และได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกไม่ได้โตเร็วอย่างที่คาด ทำให้บริษัทต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใต้โครงการ DELTA ให้เร็วขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GIM ที่วางไว้ รวมทั้งมีการเจรจา ปตท.เพื่อซื้อน้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะใช้น้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1 หมื่นบาร์เรลเป็น 3.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ทำให้มาร์จิ้นดีขึ้น และมั่นใจว่าปีนี้บริษัทฯ มีกำไรมากกว่าปีก่อนแน่นอน”
นายสุกฤตย์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทบทวนธุรกิจหลักที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า (Strengthen Core Business) โดยจะพิจารณาทุกธุรกิจต่างๆ ในเครือบริษัทฯ เพื่อดูว่ามีธุรกิจใดบ้างที่มีศักยภาพ เข้มแข็ง และต่อยอดแข่งขันไปได้ ส่วนธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้มีแนวทางที่จะเพิ่มขีดความสามารถหรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องหยุดไป อาทิ โครงการผลิตโพลีออล มีผลการดำเนินงานที่ไม่ดี เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบมาผลิต ก็คงต้องมาศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นต้น
ซึ่งการทบทวนธุรกิจดังกล่าวเพื่อให้ไออาร์พีซีมีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 4 นี้
ทั้งนี้ ไออาร์พีซีเป็นบริษัทปิโตรเคมีครบวงจรรายแรกของไทย ทำให้แต่ละหน่วยผลิตมีขนาดเล็ก ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงเมื่อเทียบบริษัทปิโตรเคมีอื่นๆ ดังนั้นบริษัทจึงหันมาเน้นการผลิตสินค้าเกรดพิเศษเพื่อเพิ่มมูลค่า แทนการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไป ซึ่งเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษนี้มีความต้องการใช้ในตลาดไม่มาก ซึ่งเหมาะกับกำลังการผลิตของไออาร์พีซีอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาบริษัทมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Wood Composite, Green ABS และ Anti Bacteria ซึ่งน่าจะได้รับการต้อนรับจากตลาดด้วยดี แม้ว่าปริมาณความต้องการตลาดยังน้อยอยู่ก็ตาม
สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทฯ ตั้งไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่อเนื่องโครงการ (UHV) ภายใต้โครงการฟินิกซ์ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2558 หลังจากนั้นบริษัทมีแผนจะลงทุนโครงการต่อยอดฟินิกซ์อีก 6 โครงการ ใช้เงินลงทุน 6.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริษัทฯ มีความเข้มแข็งและก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ โครงการต่อยอดฟินิกซ์มี 6 โครงการ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เพื่อเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งโครงการต่อยอดฟินิกซ์ ประกอบด้วย โครงการผลิตพาราไซลีน (PX) 1.21 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3.72 แสนตัน/ปี โครงการผลิตโพลีโพรพิลีน คอมพาวด์ (PPC) 3 แสนตัน/ปี โครงการผลิตโพลีออล 1 แสนตัน/ปี โครงการผลิตอะคริลิก แอซิด/ซูเปอร์แอบซอฟเบนต์ พอลิเมอร์ (AA/SAP) กำลังการผลิต AA 1 แสนตัน/ปี และ SAP 8 หมื่นตัน/ปี โครงการ Bio-Hydrogenated Diesel (BHD) 2 ล้านลิตร/เดือน และโครงการผลิตสไตรีน โมโนเมอร์ (SM) 3.50 แสนตัน/ปี
เมื่อโครงการ UHV แล้วเสร็จจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันไออาร์พีซีสามารถกลั่นได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนบาร์เรล/วันจากปัจจุบันที่กลั่นน้ำมันอยู่ 1.8 แสนบาร์เรล/วัน ปริมาณน้ำมันเตาผลิตได้ลดลงจาก 23% เหลือเพียง 8% และสามารถผลิตโพรพิลีนเพิ่มขึ้นอีก 3.2 แสนตัน/ปี ทำให้ GIM เพิ่มขึ้นอีก 2-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายสุกฤตย์กล่าวถึงแนวคิดการควบรวมกิจการไออาร์พีซีกับพีทีที โกลบอลฯ ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะต้องรอให้โครงการฟินิกซ์แล้วเสร็จในปี 2558 จึงค่อยมาพิจารณา ซึ่งการควบรวมกิจการจะต้องสร้าง Synergy ร่วมกันของ 2 บริษัท และภาวการณ์ต้องเหมาะสมด้วย โดยยอมรับว่าขณะนี้ไออาร์พีซียังมีคดีความอยู่ในศาลอีกมากเกือบ 100 คดี