xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออก ก.พ.ฟื้นขยายตัวเพิ่ม 2.43% แต่นำเข้าวูบหนัก ทำเกินดุลการค้าสูงสุดรอบ 40 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส่งออก ก.พ.ฟื้น ขยายตัวเป็นบวก 2.43% หลังเศรษฐกิจคู่ค้าเริ่มดีขึ้น ค่าบาทอ่อนส่งผลดี และสินค้าหลายตัวเริ่มกลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่ยอดนำเข้าติดลบหนัก ทำไทยเกินดุลการค้าสูงสุดในรอบ 40 เดือน “ศรีรัตน์” ยันนำเข้าลด ไม่น่าห่วง เหตุผู้ผลิตสต๊อกสินค้าทุนและวัตถุดิบไว้ก่อนหน้านี้เพราะประเมินว่าบาทจะอ่อนต่อเนื่อง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.พ. 2557 มีมูลค่า 18,363.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.43% ถือเป็นการส่งออกที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน การนำเข้ามีมูลค่า 16,596 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.62% ลบมากที่สุดในรอบ 52 เดือน ส่งผลให้เดือน ก.พ.เกินดุลการค้ามูลค่า 1,767 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินดุลสูงสุดในรอบ 40 เดือน เนื่องจากการส่งออกได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลายๆ ตลาดมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น และสินค้ากลุ่มหลักๆ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่สินค้าเกษตรได้รับผลดีจากการที่เงินบาทอ่อนค่าลงทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อรวมการส่งออก 2 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่ารวม 36,270.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าในปี 2557 การส่งออกจะยังขยายตัวได้ตามเป้าที่วางไว้ 5% และเชื่อว่าหากไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวที่ระดับ 10% ได้

นางศรีรัตน์กล่าวว่า การนำเข้าที่ลดลงจนถึงขั้นติดลบมาก เนื่องจากผู้ประกอบการได้มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบมาสต๊อกไว้ก่อนหน้านี้ 2-3 เดือนแล้วเพราะมองว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หากไม่รีบนำเข้าต้นทุนนำเข้าก็จะสูงขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศไปศึกษาดูแล้วว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะไม่เหมือนปี 2552 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สหรัฐฯ จนทำให้การนำเข้าทั่วโลกในปีนี้ลดลงอย่างมาก

สำหรับตลาดส่งออกส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น โดยตลาดหลักได้แก่ สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 7% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 2.7% แต่สหรัฐฯ ลดลง 2.3% ขณะที่ตลาดศักยภาพสูง เช่น อาเซียนเพิ่มขึ้น 0.9% ฮ่องกงเพิ่ม 8.7% โดยจีนและอินเดียลดลง 0.8% และ 9.6% สำหรับตลาดศักยภาพรอง เช่น ทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา และสหภาพยุโรป (12 ประเทศ) เพิ่มขึ้น 0.8%, 0.4%, 3.6%, 4.9% และ 1.4% ตามลำดับ ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 468.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น