ก.อุตฯ เตรียมลุยสอบบ่อขยะทั่วประเทศ เล็งออกระเบียบบังคับรถบรรทุกกากอุตสาหกรรมทุกประเภทติด GSP และนำระบบ RFID ติดตัวถังที่เก็บกากอีกชั้น คาดดำเนินการได้ภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ ขณะที่ระยะยาวแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษ รับกากอันตรายหายจากระบบราว 7.5 แสนตัน
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีไฟไหม้บ่อขยะที่ จ.สมุทรปราการ ได้หารือร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทรับจัดการกากอุตสาหกรรม 4 รายเห็นชอบร่วมกันว่า ระยะสั้นได้มอบหมายให้ทุกส่วนไปเร่งตรวจสอบปริมาณกากขยะให้ชัดเจนและดำเนินการเอาผิดเจ้าของบ่อขยะชุมชนที่มีขยะอุตสาหกรรมไปปน รวมถึงการแก้ไขระเบียบการติดตั้งระบบจีพีเอสในการกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกประเภท และระยะยาวให้แก้ไขกฎหมายใหม่ที่จะต้องเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดจากที่ปัจจุบันสูงสุดเพียงจำคุก 2 ปีปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นว่าบทลงโทษดังกล่าวน้อยเกินไปทำให้จูงใจที่จะลักลอบทำผิดได้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นปี 2556 พบว่าไทยมีกากไม่อันตรายอยู่ที่ 45.7 ล้านตัน ขยะอันตรายอยู่ที่ 3.9 ล้านตัน โดยในส่วนนี้อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นความรับผิดชอบของ กนอ. คือขยะไม่อันตราย 27 ล้านตันและอันตราย 1.4 ล้านตัน ซึ่งส่วนนี้มั่นใจว่าจะเข้าระบบกำจัดทั้งหมด
“ตัวเลขขยะอันตรายแจ้งเข้าระบบมี 2.5 ล้านตัน ซึ่งถูกกำจัด 70% อีกประมาณ 30% หรือราว 7.5 แสนตันน่าจะหายไป แต่ตัวเลขบางอย่างก็อาจจะแจ้งไว้ค่อนข้างโอเวอร์ เพราะเอกชนบางรายขี้เกียจมาแจ้งบ่อยๆ เราคงต้องไปรวบรวมให้ชัด” นายวิฑูรย์กล่าว
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดี กรอ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดสำรวจบ่อขยะทั้งหมดว่ามีการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมไปปลอมปนทิ้งรวมหรือไม่ หากเจอบ่อดินที่มีขยะอุตสาหกรรมทิ้งให้ดำเนินคดีทันทีต่อเจ้าของบ่อทั้งบ่อฝังกลบและเผากาก รวมถึงโรงงานคัดแยกขยะที่มีอยู่ราว 1,200 แห่ง และโรงงานรีไซเคิล 400 แห่ง ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาอาจเป็นช่องทางลักลอบได้ โดยปีที่ผ่านมาพบว่ามีโรงงานแจ้งเป็นรีไซเคิลแต่ไปตรวจกลับพบเป็นบ่อกุ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ได้เตรียมตั้งคณะทำงานที่จะศึกษาปรับปรุงกฎกระทรวงที่จะบังคับให้รถบรรทุกที่ขนขยะอุตสาหกรรมทั้งประเภทอันตรายและไม่อันตรายต้องติดจีพีเอสทั้งหมดจากขณะนี้มีเพียงการบังคับเฉพาะขยะอันตรายเท่านั้น พร้อมกับการบังคับให้รถบรรทุกดังกล่าวต้องติดตั้งเทคโนโลยีระบบระบุลักษณะของวัตถุด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) กับตัวถังที่เก็บกากอุตสาหกรรมด้วยเพื่อประสิทธิภาพอีกขั้น โดยระยะแรกอาจเริ่มที่กากอันตรายก่อน โดยขั้นตอนติดตั้งจะให้เอกชนดำเนินการ ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะใช้เวลา 3 เดือนในการดำเนินการและได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
“เราพบว่าตัวรถบรรทุกวิ่งไปแม้มีจีพีเอสก็เอาถังออกไปรถวิ่งไปยังจุดทิ้งก็จับไม่ได้ แต่ RFID จะติดที่ตัวถังใส่ขยะอีกชั้นหนึ่งมีรหัสล็อกก็จะทำให้การลักลอบทิ้งยากขึ้น ที่ผ่านมาเราก็ยอมรับว่ากำลังคนที่มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับโรงงาน เราจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาจัดการ ซึ่งแนวทางนี้คงใช้เวลาไม่นานเพราะสามารถออกกฎกระทรวงได้ ส่วนระยะยาวจะต้องแก้ไขกฎหมายคือการเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น” นายณัฐพลกล่าว