กระทรวงอุตสาหกรรมปูพรมส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกประเภท 1,855 แห่งทั่วประเทศแล้ว หากพบผิดสั่งลงโทษเด็ดขาด ให้รายงานผลภายใน 30 เม.ย.นี้ พร้อมวาง 5 ขั้นตอนวางระบบการควบคุมใหม่เบ็ดเสร็จ คาดใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีบันทึกด่วนที่สุด สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และโรงงานรับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรมทุกประเภทรวม 1,855 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.4) แล้ว แต่ยังไม่แจ้งเปิดดำเนินกิจการตามกำหนด หรือมิได้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตฯ โดยได้ส่งแบบฟอร์มเอกสารการตรวจสอบให้ ทั้งนี้ให้รายงานผลให้ทราบภายในวันที่ 30 เมษายน 2557
“การลงพื้นที่ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลโรงงานกำจัดขยะ จำนวน 1,855 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ โรงงานปรับคุณภาพของเสีย (ประเภท 101) จำนวน 141 แห่ง โรงคัดแยกหรือฝังกลบ (ประเภท 105) 1,268 แห่ง โรงงานรีไซเคิลขยะ (ประเภท 106) 446 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมจะพบว่ามีปัญหาตั้งแต่เรื่องใบอนุญาต รง.4 และไม่ทำตามกฎหมาย ซึ่งหากพบผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดก็จะส่งดำเนินคดี มีโทษปรับ 2 แสนบาท จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังต้องการสำรวจปริมาณของกากขยะอุตสาหกรรมในประเทศให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานในการกำกับดูแลโรงงาน และวางระบบการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม นำเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง” นายวิฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้ ใน 3 เดือนต่อจากนี้จะดำเนินการเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างครบวงจร โดยมีแผนดำเนินงานที่ต้องแก้ไขกฎกระทรวงฯ ตั้งแต่ 1. การติดระบบ GPS กับรถขนขยะอุตสาหกรรมทุกประเภท จากเดิมที่บังคับเฉพาะรถที่ขนขยะอันตราย เพื่อตรวจสอบการขนส่งของเสียสู่จุดหมาย 2. การนำระบบอาร์เอฟไอดีเข้ามาใช้ติดผนึกถังใส่ขยะอันตรายเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างทาง 3. การบังคับให้รถขนกากอุตสาหกรรมมีสีสันและติดสัญลักษณ์แสดงให้ทุกคนทราบ 4. การที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ เตรียมร่างข้อบังคับเรื่องการประกันภัยสำหรับรถขนกากอุตสาหกรรมอันตราย ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหากพบเหตุผิดปกติ รวมถึง 5. การพิจารณาเพิ่มบทลงโทษเป็นปรับ 1.5 ล้านบาทจำคุกมากกว่า 2 ปี (จากปัจจุบันมีโทษปรับ 2 แสนบาท จำคุก 2ปี)
จากผลการศึกษาล่าสุด เท่าที่สำรวจข้อมูลขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีปริมาณทั้งสิ้น 49.6 ล้านตัน เป็นขยะไม่อันตราย 45.7 ล้านตัน และขยะอันตราย 3.9 ล้านตัน โดยของเสียภายในนิคมอุตสาหกรรม สามารถทราบปริมาณ และนำของเสียเข้าระบบได้ทั้งหมด โดยมีของเสียภายในนิคมฯ จำนวน 7.1 ล้านตัน เป็นของเสียไม่อันตราย 5.5 ล้านตัน และของเสียอันตราย 1.6 ล้านตัน