กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจนอมินีในจังหวัดเชียงใหม่ 16 ราย พบ 2 รายช่วยต่างชาติทำธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม เตรียมเอาผิดตามกฎหมายพร้อมส่งดีเอสไอดำเนินการ ส่วนผลตรวจธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่พบผิด เล็งตรวจจังหวัดท่องเที่ยวที่เหลือต่อ ตั้งเป้าตรวจทั้งสิ้น 198 ราย เผยผลสอบปี 56 ส่งดีเอสไอดำเนินคดีแล้ว 14 ราย ส่งกรมที่ดินเอาผิดตามกฎหมายที่ดิน 362 ราย พร้อมทบทวนธุรกิจพ้นบัญชีแนบท้าย
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมินี) ในปี 2557 ว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบนอมินีในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว 16 ราย แยกเป็นธุรกิจร้านอาหาร 7 ราย ธุรกิจท่องเที่ยว 8 ราย และธุรกิจสปา 1 ราย โดยเบื้องต้นพบว่าผู้ถือหุ้นคนไทยมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินีในนิติบุคคล 2 ราย ซึ่งประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะมีการร่วมทุนกันจริงในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ โดยอาศัยความสามารถของทั้งสองฝ่าย โดยคนไทยทำหน้าที่ในการจัดการด้านท่องเที่ยว ประสานงานโรงแรมที่พักในประเทศ ส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติจะเป็นผู้จัดหานักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา
สำหรับแผนการตรวจสอบนอมินีในจังหวัดที่เหลือ กรมฯ จะเริ่มตรวจนิติบุคคลในจังหวัดชลบุรี และภูเก็ต ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2557 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ พังงา เดือน มิ.ย. 2557 และจังหวัดตราด เดือน ก.ค. 2557
“ตามแผนกรมฯ ได้มีการแบ่งธุรกิจที่จะตรวจสอบเป็นรายกลุ่ม ซึ่งได้กำหนดไว้ 6 กลุ่ม ได้แก่ ขายอาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว ให้เช่าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ ให้เช่ารถยนต์ และสปา โดยมีจำนวนที่เข้าข่าย 6,942 ราย แต่กรมฯ ได้คัดกรองแล้วเหลือกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีพฤติกรรมเป็นนอมินีที่จะต้องตรวจสอบ 198 ราย
โดยหากผลการตรวจสอบพบว่าเป็นนอมินีจริงก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วย” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
นิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีทั้ง 198 ราย แยกเป็น ภูเก็ต 81 ราย ชลบุรี 30 ราย ตราด 20 ราย กรุงเทพมหานคร 18 ราย เชียงใหม่ 16 ราย พังงา 10 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 9 ราย กระบี่ 6 ราย สุราษฎร์ธานี 4 ราย ปทุมธานี 2 ราย กาญจนบุรี 1 ราย และระยอง 1 ราย
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ส่วนผลการตรวจสอบนอมินีในปี 2556 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ตรวจสอบนิติบุคคลที่มีพนักงานของสำนักงานบัญชีและสำนักงานกฎหมายร่วมถือหุ้นกับคนต่างด้าวจำนวน 2,554 ราย ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยว คือ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งได้ส่งให้ดีเอสไอดำเนินคดีแล้ว 14 ราย แยกเป็นชลบุรี 9 ราย สุราษฎร์ธานี 3 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 2 ราย เนื่องจากพบว่ามีคนไทยให้ความช่วยเหลือ ถือหุ้นแทน และทำธุรกิจในบัญชีสงวน คือ นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 2 ราย นายหน้ารับจองที่พัก 1 ราย การก่อสร้าง 1 ราย ขายอาหาร 2 ราย ให้เช่าห้องพัก 2 ราย บริการทำความสะอาด 1 ราย ให้เช่ารถ 2 ราย รับตัดเย็บเสื้อผ้า 1 ราย ให้คำปรึกษางานด้านก่อสร้าง 1 ราย และผลิตหัวขุดเจาะ 1 ราย
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ส่งให้กรมที่ดินเอาผิดตามกฎหมายที่ดินจำนวน 362 ราย แยกเป็น ชลบุรี 253 ราย สุราษฎร์ธานี 56 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 20 ราย ภูเก็ต 31 ราย กระบี่ 2 ราย เนื่องจากพบว่ามีการถือหุ้นแทน แต่บริษัทไม่ได้ประกอบธุรกิจเพียงจัดตั้งขึ้นเพื่อถือครองอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
ส่วนการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีชาวรัสเซียถือหุ้นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 153 ราย กรมฯ ยังไม่พบข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนด้วยมีพฤติกรรมในลักษณะให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวที่จะสามารถดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับนอมินีได้
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 แล้ว เพื่อพิจารณาทบทวนว่าจะตัดบัญชีธุรกิจใดออกจากบัญชีควบคุม ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพิจารณาที่จะตัดธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะและหน่วยงานเฉพาะกำกับดูแลออก เช่น ธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าส่ง และธุรกิจนำเที่ยว รวมถึงธุรกิจบริการที่การประกอบการไม่ซับซ้อน เช่น สำนักงานผู้แทน เป็นต้น