“ศรีสุข จันทรางศุ” อดีตปลัดคมนาคมเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 70 ปี เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ทิ้งผลงานหลากหลายไว้เบื้องหลัง ในฐานะอดีตข้าราชการที่แนบแน่นกับนักการเมือง โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิที่ถูกครหาเรื่องความไม่โปร่งใส
นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม อายุ 70 ปี ได้เสียชีวิตลงเมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 มี.ค.ที่่ผ่านมา หลังจากป่วยด้วยโรคมะเร็ง ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดธาตุทอง และมีกำหนดรดน้ำศพเวลา 16.00 น. วันนี้
สำหรับประวัติ นายศรีสุข จันทรางศุ เกิดวันที่ 14 มกราคม 2487 เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมในปี 2543 สมัยรัฐบาลทักษิณ ทั้งยังเป็นอดีตประธานบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย และอดีตประธานบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯ แห่งใหม่ (บทม.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้าง และการบริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า)
หลังเกษียณอายุราชการ นายศรีสุขยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ในช่วงที่นายโสภณ ซารัมย์ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งนายศรีสุขเป็นประธานคณะทำงานฟื้นฟูพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางอากาศ นอกจากนี้นายศรีสุขยังเป็นผู้ผลักดันให้ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ได้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงคมนาคมอีกด้วย
ทั้งนี้ นายศรีสุข จันทรางศุ เคยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และเคยมีเรื่องอื้อฉาวในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งต่อมาได้เกิดจุดพลิกผันที่หลายคนไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้นเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำการยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 สนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นแหล่งขุมทรัพย์ในการคอร์รัปชันของนักการเมืองพรรคไทยรักไทยก็ตกเป็นเป้าการสาวไส้การทุจริตออกมาทันที โดยเฉพาะการตกเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชงเรื่องต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ชุดใหม่ที่ คปค.แต่งตั้งขึ้น
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯ แห่งใหม่ (บทม.) ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างและการบริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงเกิดอาการอยู่ไม่ติดเก้าอี้ โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2549 ถึงกับรี่เข้าชี้แจงต่อ คตส.ในเรื่องการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ทั้งๆ ที่ทางคณะกรรมการ คตส.ยังไม่ได้เรียกนายศรีสุขให้เข้ามาชี้แจงแต่อย่างใด
กว่า 40 ปีของชีวิตราชการกระทั่งเกษียณไปแล้ว ศรีสุข จันทรางศุ ถือเป็นผู้ทำหน้าที่สนองนโยบายข้าราชการการเมืองด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะกับตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงคมนาคมที่มีโครงการขนาดนับแสนล้านบาทอันเป็นที่หมายปองของบริษัทเอกชน
หลังจากจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธาเมื่อปี 2509 ศรีสุขก็เข้าทำงานเป็นนายช่างตรี กองสำรวจออกแบบ กรมทางหลวง จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ด้านการขนส่ง และเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกด้านการวางแผนระบบขนส่ง ณ มหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา จนจบการศึกษาในปี 2516
ด้วยความเป็นคนหนุ่มอายุแค่ 30 ปีต้นๆ มีความคล่องแคล่ว และมีความรู้ถึงระดับด็อกเตอร์ ประกอบกับ ดร.สิริลักขณ์ จันทรางศุ บิดาก็รับราชการในกระทรวงคมนาคม จนได้ระดับซีสูงสุดคือปลัดกระทรวงคมนาคมในช่วงปี 2510-2519 ศรีสุขจึงเป็นบุคคลที่จัดได้ว่ามีอนาคตดีในหน้าที่การงาน
เมื่อกลับจากสหรัฐฯ ศรีสุขได้ปรับฐานะไปรับหน้าที่ในกองงานคณะกรรมการขนส่งและคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม จากนั้นในเวลาเพียง 7 ปีศรีสุขก็ก้าวไปถึงตำแหน่งผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการขนส่งและคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
บางคนมองว่าเป็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่รวดเร็วด้วยวัยหนุ่มฉกรรจ์ แต่ใครจะรู้ว่าตำแหน่งระดับนี้คงไม่สามารถเรียกได้ว่าสูงสุดสำหรับเขา แม้จะก้าวหน้าเร็วกว่าเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน เพราะหลังจากนั้นเพียง 4 ปีศรีสุขก็เลื่อนขั้นแทบจะเรียกได้ว่าปีต่อปี จากผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมชั้น 2 มาเป็นรองอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ชั้น 1 และรองปลัดกระทรวงคมนาคม
นายศรีสุขเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในกระทรวงคมนาคมมานาน และมีความสัมพันธ์กับข้าราชการมานาน ประกอบกับการผลักดันจากการเมือง และได้มีโอกาสเข้าช่วยเหลืองานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในต่างกรรมต่างวาระ ทำให้ศรีสุขสามารถชูบทบาทเด่นชัดให้กับเจ้ากระทรวงได้ไม่ยาก เป็นการปูทางให้ขึ้นสู่ระดับซีที่มากขึ้นในเวลาไม่นาน ว่ากันว่าดูเหมือนจะเด่นชัดที่สุดก็คือการเข้าไปช่วยเหลืองานรับใช้ใกล้ชิดกับ บรรหาร ศิลปอาชา ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายบรรหาร แม้จะปรับระดับการศึกษาของตนเองโดยศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็ยังไม่คล่องแคล่วพอ เมื่อติดต่องานกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศบ่อยครั้งตามหน้าที่ก็ได้อาศัยรองปลัดกระทรวงคมนาคมอย่างศรีสุขเข้าช่วยเหลือทั้งด้านข้อมูลและล่ามแปล จนเรียกได้ว่าเป็นเงาตามตัวของบรรหารแทบจะตลอดเวลา
แม้เมื่อบรรหารกลับจากการดูงานต่างประเทศ ศรีสุขซึ่งติดตามไปด้วยก็ยังได้ช่วยเหลือหิ้วถุงเหล้าจากร้านปลอดภาษีในสนามบิน จนเป็นที่ฮือฮาในหมู่ข้าราชการประจำที่ไปรับนายบรรหารขณะนั้น ถึงความเหมาะสมสำหรับข้าราชการประจำในการกระทำเช่นนี้
ด้วยผลงานที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งเข้าตากรรมการ ก่อนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่นาน บรรหารก็ได้เสนอชื่อศรีสุขให้ขึ้นรับตำแหน่งอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ด้วยวัยเพียง 44 ปี เมื่อปี 2531 หลังจากเป็นรองปลัดกระทรวงได้ประมาณ 1 ปี และนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของศรีสุขในการขึ้นสู่อำนาจระดับสูงที่สามารถตอบสนองผลงานกับรัฐมนตรีว่าการที่เป็นข้าราชการการเมือง
นับจากวันนั้น ศรีสุขก็สร้างผลงานชิ้นใหญ่ที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ในยุคที่ธุรกิจการบินของประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ ในช่วงที่มนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีโครงการขนาดใหญ่ ที่กระทรวงเน้นการเข้าร่วมทุนกับภาคเอกชนอยู่หลายโครงการ ด้านกรมการบินพาณิชย์ก็ได้เสนอแนวคิดในการขุดซากของโครงการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่าสนามบินหนองงูเห่าเป็นหัวใจหลัก ด้วยนโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินพาณิชย์ระดับภูมิภาค เพราะอัตราการเติบโตของผู้โดยสารผ่านเข้าออกที่สนามบินดอนเมืองมีเพิ่มมากขึ้น โดยศักยภาพของสนามแห่งเก่านั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับ
การขยายการก่อสร้างครั้งใหม่ด้วยการจัดทำแผนแม่บทระยะยาวและจ้างบริษัทที่ปรึกษา มีการคัดเลือกบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ เข้ามาดำเนินการ ศรีสุขซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของการท่าอากาศยานฯ ร่วมในการคัดเลือก
แม้จะมีข่าวว่า หลุยส์ เบอร์เจอร์ เป็นบริษัทที่อยู่ในบัญชีดำของธนาคารโลก แต่ศรีสุขเป็นผู้ออกมารับประกันว่าไม่มีปัญหา และหลุยส์ เบอร์เจอร์ ก็ได้รับการคัดเลือกไปอย่างลอยลำในการวางแผนพัฒนาและขยายการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง
ชะตาในกระทรวงคมนาคมของศรีสุขอยู่ในสภาวะขึ้นๆ ลงๆ อยู่หลายครั้งเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว แต่เขาก็ถือว่าเป็นผู้ที่คลุกคลีกับ “หนองงูเห่า” ที่กลายเป็น “สุวรรณภูมิ” มาตั้งแต่ต้น
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยขึ้นมากุมอำนาจในการบริหารประเทศ ศรีสุขที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม และมีความสัมพันธ์กับคนในพรรคไทยรักไทยหลายคน เช่น นายทวี ไกรคุปต์ อดีต รมช.คมนาคม นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมว.คมนาคม จึงก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการคุมโครงการก่อสร้างสนามบินหนองงูเห่า โดยได้รับตำแหน่งสำคัญคือเป็นทั้งประธานกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย (ประธานบอร์ดทอท.) และประธานกรรมการบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (ประธานบอร์ด บทม.)
นายศรีสุข ที่ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงเคยมีข่าวอื้อฉาวว่าเกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างทางหลวงวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ (S1) จนถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้าตรวจสอบและชี้มูลความผิด เมื่อเข้ามารับผิดชอบโครงการสนามบินหนองงูเห่าก็กลายเป็นข้อต่อหลักผู้ดำเนินเรื่องให้มหากาพย์แห่งการคอร์รัปชันเรื่องนี้ดำเนินไปได้จนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบวัตถุระเบิดประจำท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ (CTX) การเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการให้บริการระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ กรณีการจัดจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย การล็อกสเปกท่อร้อยสายไฟแอร์พอร์ตลิงก์ การล็อกสเปกสัมปทานให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯลฯ
โดยเฉพาะในกรณีซีทีเอ็กซ์ที่การดำเนินการสอบสวนการทุจริตโดย คตส.ดูจะคืบหน้าที่สุด เนื่องจากเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของวุฒิสภา ที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม. เป็นประธาน ได้สรุปรายงานผลการสอบสวนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปลายปี 2548 แล้ว และได้ชี้ชัดว่านายศรีสุขเกี่ยวข้องกับกรณีการทุจริตดังกล่าว โดยมีความผิดตามกฎหมายหลายบท ต่างกรรมต่างวาระกัน ในการจัดซื้อ จัดจ้างชุดตรวจสอบวัตถุระเบิดของ บทม.
การประกาศลาออกจากตำแหน่งของกรรมการบอร์ด ทอท.ยกชุด ซึ่งก็รวมถึงนายศรีสุขที่ดำรงตำแหน่งประธานด้วยนั้นถือเป็นจุดหักเหจุดแรกของนายศรีสุขเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมิจนถึงทุกวันนี้คือความไม่โปร่งใส่ในการก่อสร้างสนามบิน ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ และก็ยังเงียบหายไปไม่มีความคืบหน้า แต่ผู้เกี่ยวข้องและเป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างนายศรีสุขก็ได้ลาโลกไปแล้ว มีแต่ซากความเสียหายที่ทิ้งไว้ในสนามบินสุวรรณภูมิ และยังไม่สามารถสืบสาวเรื่องราวหาคนผิดมารับผิดชอบในครั้งนี้ได้เลย