xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำร้องคัดค้าน “ดีเอสไอ” ถอนประกัน “จำลอง” พร้อม 9 แกนนำ-แนวร่วมพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทนายพันธมิตรฯ ยื่นคำร้องคัดค้านถอนประกัน พล.ต.จำลอง และ 9 แกนนำ-แนวร่วมพันธมิตรฯ ตอกย้ำเจตนารมณ์การร่วมชุมนุม “ยิ่งลักษณ์” กระทำขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม หนำซ้ำเหยียดหยาม ดูถูกประชาชน ยืนยันศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (26 ธ.ค.) นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านถอนประกัน และขอให้ศาลไต่สวนคำร้องของผู้คัดค้าน ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 96 คน ระบุว่า คดีนี้ศาลนัดสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐานวันที่ 26 พ.ค. 2557 เวลา 9.00 น.เนื่องจากคดีนี้ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (นายธาริต เพ็งดิษฐ์) ได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มายื่นคำร้องขอถอนประกันจำเลยรวม 9 คนในวันนี้ จำเลยเรียนต่อศาลว่าได้ออกมาชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนามรณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63, 69, 70, 71 และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก

โดยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กระทำการที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ได้แก่ 1.เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ฝ่ายรัฐบาลผลักดันจะให้ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เสนอโดยนายวรชัย เหมะ แต่เมื่อถึงการแปรญัตติได้เสนอเกินไปกว่าร่าง บรรดา ส.ส.ก็พิจารณาลงมติในวาระที่ 3 จึงขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม ผลกระทบของวาระ 3 นอกจากประชาชนจะได้รับการนิรโทษกรรมจะส่งผลให้บุคคลทางการเมืองพ้นจากความผิด ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลุดพ้นจากคดีทางการเมืองและคดีที่เกิดขึ้นจากการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รวมทั้งสิ้น 8 คดี รวมทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หลุดจากคดีการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 แกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลุดจากคดีปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง, แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลุดจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง และคดีก่อการร้าย รวมทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมม็อบองค์การพิทักษ์สยาม หรือม็อบ เสธ.อ้าย ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลุดจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง จำนวน 127 คน ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ องค์การพิทักษ์สยาม ไม่ต้องการนิรโทษกรรมตามที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้าง แต่ต้องการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม จุดประสงค์ที่แท้จริงในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวก็เพียงต้องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกพ้องของตนเองเท่านั้น การอ้างว่าประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ก็เป็นเพียงการสร้างภาพเท่านั้น

นอกจากนี้ กลุ่มที่หลุดจากคดีทุจริตที่มีการตรวจสอบโดย คตส.คือ นายวราเทพ รัตนากร และนายสมใจนึก เองตระกูล หลุดจากคดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้าย 2 และ 3 ตัว หรือหวยบนดิน, นายประชา มาลีนนท์ และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ หลุดจากคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของ กทม.มูลค่า 6,800 ล้านบาท, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หลุดจากคดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งคดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ, นายวัฒนา เมืองสุข หลุดจากคดีจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ

2.เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำการเหยียดหยาม ดูถูกประชาชน จึงมีประชาชนจากหลายภาคส่วนออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการกระทำที่ทำลายประเทศ เช่น นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) พรรคสานแสงทอง ในฐานะแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทสไทย (คปท.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ระบุจุดยืนว่า การบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก่อให้เกิดปัญหาภาวะทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ชีวิตของคนไทยตกต่ำลงในช่วง 2 ปี แต่รัฐบาลมุ่งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อพวกพ้อง ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เมื่อประชาชนออกมาชุมนุมอย่างสงบ กลับประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาสกัดกั้นประชาชน และนักศึกษาจำนวนมาก และมีกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แต่ละกลุ่มได้ชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธตามสิทธิรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังรณรงค์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยประชาชนเห็นว่าจะทำให้การทำสัญญาระหว่างประเทศในบางสัญญา จะไม่ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยรัฐสภา แต่ทำให้อำนาจตัดสินใจไปอยู่ที่คณะรัฐมนตรี จะเป็นช่องทางให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจลงนามในสัญญาระหว่างประเทศโดยมิชอบ ทำให้ประเทศเสียอำนาจอธิปไตยในที่สุด

ในระหว่างการชุมนุมของ คปท.ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ยืนยันว่าการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก คดีคำพิพากษา ในเชิงที่ว่าประเทศไทยไม่สูญเสียดินแดนนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะให้สัมภาษณ์ก่อนจะทราบความชัดเจนของรายละเอียดคำพิพากษา ขาดความรอบคอบและอาจมีผลผูกพันในอนาคต พร้อมเรียกร้อง 7 ข้อ โดยกลุ่ม คปท.ยืนยันเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และต่อต้านโดยสันติวิธี อหิงสา ต่อไป

3.คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณาคำร้องที่ นายกิตติ อธินันท์ ในฐานะตัวแทนสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่านายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ผู้ร้องได้กระทำการชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน โดยมีการปิดเส้นทางการจราจร อีกทั้งยังได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมทั้งการที่นายสุเทพประกาศจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่ จึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 68 วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

4.ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องที่ 66/2556 กรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสุเทพ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ จึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

5.จำเลยทั้งหมดขอกราบเรียนต่อศาลว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้ แต่คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์และไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด การที่อธิบดีดีเอสไอมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มายื่นคำร้องในคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

6.จากการกระทำในข้อ 5 นั้นจะเห็นได้ชัดว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มประชาชน รัฐบาลก้ได้ระดมมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลมาชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 และได้ประกาศสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2556 เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงได้ทำร้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการใช้อาวุธสงคราม ปืน ยิงเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่มีการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการชุมนุมก็มีจำเลยคดีก่อการร้ายหลายคน เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขึ้นเวทีปลุกระดมให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมา จนทำให้มีการจลาจลเกิดขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่นายธาริต กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งที่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว กลับมุ่งรับใช้รัฐบาล การกระทำของนายธาริต กับพวก จึงเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยทั้งหมด สร้างพยานหลักฐาน และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าประชาชนชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ แต่เป็นการชุมนุมเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติจากนักการเมืองที่มุ่งทุจริตคอร์รัปชั่น กรมสอบสวนคดีพิเศษย่อมต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า ที่บัญยัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ

7.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 วันที่ 20 พ.ย. 2556 แต่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ต่างปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัย อันไม่ใช่วิสัยของตัวแทนของปวงชนชาวไทย แต่เป็นวิสัยของพวกอันธพาลพวกมาลากไป ดังนั้นการกระทำต่างๆ ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างกระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มิใช่ของประชาชน ประชาชนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เป็นโมฆะไม่ยอมรับอำนาจศาลภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จำเลยทั้งหมดจึงไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขในการประกันตัวแต่อย่างใด

8.จำเลยทั้งหมดขอกราบเรียนต่อศาลว่า ในการชุมนุมของประชาชนครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิงสา และปราศจากอาวุธ แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยั่วยุ ใช้ความรุนแรง ยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนอย่างบ้าระห่ำ แต่ประชาชนต่างก็พยายามอดทน ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่เคยเผาหรือทำลายทรัพย์สินใดๆ ของรัฐ ทั้งๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้เกิดความรุนแรงตลอดเวลา ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างรุนแรงที่มีการเผาห้างใจกลางกรุงเทพมหานคร เผาศาลากลางเกือบทั่วประเทศ

9.การชุมนุมของประชาชนมีเพียงนกหวีดที่เป็นสัญลักษณ์ ไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ ไม่เป็นอาวุธโดยการใช้ และไม่เป็นอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(5) เสียงของนกหวีดที่เปล่งออกมานั้น ไม่เป็นถ้อยคำหรือภาษาใดในโลกที่แสดงเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น เหยียดหยาม และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามใช้นกหวีดในการชุมนุม การชุมนุมของประชาชนครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และมากที่สุดในโลก เนื่องจากทนไม่ได้กับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชัน

รายละเอียดคำร้อง

คดีหมายเลขดำที่ ช.๙๗๓,๑๐๘๗,๑๒๐๔,๑๒๗๙,
๑๔๐๖,๑๕๒๒,๑๕๕๙/๒๕๕๖

ศาล อาญา

วันที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๖

ความ อาญา

ระหว่าง พนักงานอัยการสำนักวานอัยการสูงสุดโจทก์

พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ ๑ กับพวกรวม ๙๖ คน จำเลย

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ทนายจำเลยที่ ๓,๕,๖,๒๑,๘๔

ข้าพเจ้า นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายจำเลยที่ ๓,๕,๖,๒๑,๘๔ นางสาวอัจฉรา แสงขาว ทนายจำเลยที่ ๑๓ ,๑๖, ๑๗ ,๕๗ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย อาชีพ ทนายความ เกิดวันที่ - เดือน - พ.ศ. - อายุ - ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๐๑๒ ซอย ลาดพร้าว ๒๑ แขวง จันทรเกษม เขต จตุจักร จังหวัด กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0๒ - ๕๑๓๐๓๐๔ ขอยื่นคำร้องมีข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้

ข้อ ๑. คดีนี่ศาลนัดสอบคำให้การตรวจพยานหลักฐานวันที่ ๒๖ พฤษภ่าคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๐๐ น.

เนื่องจากคดีนี้อธิบดรกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มายื่นคำร้องขอถอนประกันจำเลยที่ ๓ ,๕ ,๖ ,๑๓ ,๑๖ ,๑๗, ๒๑ ,๕๗ ,๘๔ ในวันนี้ จำเลยขอกราบเรียนต่อศาลว่าจำเลย ๓ ,๕ ,๖ ,๑๓ ,๑๖ ,๑๗, ๒๑ ,๕๗ ,๘๔ ได้ออกมาชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมย์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๓,๖๙, ๗๐, ๗๑ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก โดยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กระทำการที่ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ดังต่อไปนี้

๑.๑ เสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่ฝ่ายรัฐบาลผลักดันจะให้ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีบทบัญญัติดังนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ..."

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา ๔ เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่งยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา ๕ การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา ๖ การดำเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา ๗ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวเสนอโดยนายวรชัย เหมะ แต่เมื่อถึงการแปรญัตติได้เสนอเกินไปกว่าร่างบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็พิจารณาลงมติในวาระที่ ๓ โดยวาระ ๓ ระบุว่า “ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้น ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นผิดจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓” การกระทำดังกล่าวจึงขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ผลกระทบของวาระ ๓ นี้ นอกจากประชาชนจะได้รับการนิรโทษกรรมจะส่งผลให้ บุตคลทางการเมืองเหล่านี้พ้นจากความผิดด้วย

๑.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลุดพ้นจากคดีทางการเมืองและคดีที่เกิดขึ้นจากการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เป็นผู้ตั้งขึ้น รวมทั้งสิ้น 8 คดี

๒.นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หลุดจากคดีการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี ๒๕๕๓

๓.แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลุดจากคดีปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง

๔.แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หลุดจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง และคดีก่อการ้าย ที่มีการชุมนุมตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

๕.แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) หรือ ม็อบเสธ.อ้าย ขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลุดจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความมั่นคง จำนวน ๑๒๗ คน

ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาวีวะ นานสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยคดีนี้ แกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยามไม่ต้องการนิรโทษกรรมตามที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอ้าง แต่ต้องการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม จุดประสงค์ที่แท้จริงในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังกล่าวก็เพียงต้องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิน ชันวัตรและบรรดาพวกพ้องของตนเองเท่านั้น การอ้างว่าประชาชนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ก็เป็นเพียงการสร้างภาพเท่าน้น

นอกจากนี้กลุ่มที่หลุดจากคดีทุจริตที่มีการตรวจสอบโดย คตส.คือ

๑.นายวรเทพ รัตนากร และนายสมใจนึก เองตระกูล หลุดจากคดีทุจริตโครงการออกสลากเชจท้าย ๒ และ ๓ ตัว หรือหวยบนดิน

๒.นายประชา มาลีนนท์ และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ หลุดจากคดีทุจริตจัดซื้อรถ - เรือ ดับเพลิง และอปกรณ์บรรเทาสาธาราณภัยของ กทม.มูลค่า ๖,๘๐๐ ล้านบาท

๓.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หลุดจากคดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีอีเอ็กซ์ ๙๐๐๐ และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบิรสุวรรณภูมิ รวมทั้งคดีทุจริตท่อร้อยสายไฟฟ้าในสนามบินสุวรรณภูมิ

๔.นายวัฒนา เมืองสุข หลุดจากคดีจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ

ข้อ ๒ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำการเหนียดหยาม ดูถูกประชาชน จึงมีประชาชนจากหลายภาคส่วนออกมาชุมนุมเรียกร้องมห้รัฐบาลหยุดกระทำที่ทำลายประเทศ เช่น นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์กรนักศึกษามหาวิทนาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) พรรคสานแสงทอง ในฐานนะแกนนำเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ออกแถลงการฉบับที่ ๑ ระบุจุดยืนว่า การบริหารงานของรัฐบาล น.ส0ยิ่งลักษรณ์ ชินวัตร ก่อให้เกิดปัญหาภาวะทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ชีวิจของคนไทยตกต่ำลงในช่วง ๒ ปี แต่รัฐบาลมุ่มแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อพวกพ้อง ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เมื่อปราชนออกมาชุมนุมอย่างสงบ กลับประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาสกัดกั้นประชาชน และนักศึกษาจำนวนมากและมีกลุ่ม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบรูณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แต่ละกลุ่มได้ชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธตามสิทธิรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังรณรงค์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ โดยประชาชนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ จะทำให้กาตรทำสัญญาระหว่างประเทศในบางสัญญา จะไม่ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองโดยรัฐสภา แต่ทำให้อำนาจตัดสินในไปอยู่ที่คณะรัฐมนตรี จะเป็นช่องทางให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจลงนามในสัญญาระหว่าสงประเทศโดยมิชอบ ทำให้ประเทศเสียอำนาจอธิปไตยในที่สุด

ใรระหว่างการชุมนุมเครือข่ายนึกศึกษาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๓ ยืนยันว่าการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก คดีคำพิพากษา ในเชิงที่ว่าประเทศไทยไม่สูญเสียดินแดนนั้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะให้สัมภาษณ์ก่อนจะทราบความชัดเจนของรายละเอียดคำพิพากษา ขาดความรอบคอบและอาจมีผลผูกพันในอนาคต พร้อมเรียกร้อง ๗ ข้อ ได้แก่

๑. ขอให้รัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ อันมีผลต่อการยอมรับหรือปฏิบัติต่อคำพิพากษาของศาลโลก โดยเฉพาะกรณีที่ทำให้ไทยสูญเสียดินแดน

๒. ตั้งคณะทำงานโดยมีสัดส่วนภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจากภาคประชาชนที่สังคมยอมรับ เพื่อศึกษาคำพิพากษาอย่างละเอียด วิเคราะห์ผลดีผลเสีย ในการยอมรับ หรือปฏิเสธคำพิพากษาศาลโลก

๓. นำบรรดาข้อตกลงใดๆ อันเกี่ยวกับพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เขตแดนไทยกัมพูชา เข้าสู่การประชุม ตรวจสอบของรัฐสภา

๔. การดำเนินการใดอันเกี่ยวกับพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร เขตแดนไทยกัมพูชา ตามคำพิพากษาศาลโลก อันมีผลผูกพันกับไทย จะต้องทำประชามติ

๕. ยุติการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ และให้ถอนร่างดังกล่าว เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทันที

๖. การดำเนินการทางทหารควรตรึงกำลังรักษาเขตแดนไว้ตามเดิม ไม่มีการถอนกำลังจนกว่าการดำเนินการประชามติจะเสร็จสิ้น

๗. ต้องเร่งดำเนินการตามสนธิสัญญาการส่งตัวนักโทษระหว่างไทยกับกัมพูชา กรณีนายวีระ สมความคิด ซึ่งขณะนี้ถูกจองจำครบหนึ่งในสาม ให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี ๒๕๕๖

โดยกลุ่ม คปท.ยืนยันเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และต่อต้านโดยสันติ วิธีอหิงสา ต่อไป

ข้อ ๓. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณาคำร้องที่นายกิตติ อธินันท์ ในฐานะตัวแทนสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ผู้ร้องได้กระทำการชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน โดยมีการปิดเส้นทางการจราจร อีกทั้งยังได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมทั้งการที่นายสุเทพประกาศจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่ จึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ และมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก ๖ ต่อ ๓ เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ข้อ ๔. ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องที่ ๖๖/๒๕๕๖ กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ผู้ถูกร้อง) กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ จึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ข้อ ๕. จำเลยทั้งหมดขอกราบเรียนต่อศาลว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ใช่คู่ความในคดีนี้ แต่คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด การที่อธิบดีดีเอสไอมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่มายื่นคำร้องในคดีนี้ จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

ข้อ ๖. จากการกระทำในข้อ ๕ นั้น จะเห็นได้ชัดว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มประชาชน รัฐบาลก็ได้ระดมมวลชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลมาชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ และได้ประกาศสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ เนื่องจากกลุ่มคนเสื้อแดงได้ทำร้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการใช้อาวุธสงคราม ปืน ยิงเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่มีการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการชุมนุมก็มีจำเลยคดีก่อการร้ายหลายคน เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขึ้นเวทีปลุกระดมให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมา จนทำให้มีการจลาจลเกิดขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งที่เป็นคู่ความในกรณีดังกล่าว กลับมุ่งรับใช้รัฐบาล การกระทำของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ กับพวก จึงเป็นการกระทำเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยทั้งหมด สร้างพยานหลักฐานและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ดังนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่าประชาชนชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ แต่เป็นการชุมนุมเพื่อปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติจากนักการเมืองที่มุ่งทุจริตคอร์รัปชั่น กรมสอบสวนย่อมต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า ที่บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นของรัฐ

ข้อ ๗. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๕-๑๘/๒๕๕๖ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ตอนหนึ่งว่า “เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา มิได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาฉบับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖ มาใช้ในการพิจารณาในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ แต่ได้นำร่างที่มีการจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีหลักการแตกต่างจากเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร เสนอหลายประการ โดยไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกสภาร่างลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภารับหลักการตามคำร้องนี้เป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาให้มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของระบบสองสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อันเป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังนี้ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยต่างปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยอันไม่ใช่วิสัยของตัวแทนของปวงชนชาวไทย แต่เป็นวิสัยของพวกอันธพาลพวกมากลากไป ดังนั้นการกระทำต่างๆ ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างกระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มิใช่ของประชาชน ประชาชนจึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เป็นโมฆะไม่ยอมรับอำนาจศาลภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จำเลยทั้งหมดจึงไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขในการประกันตัวแทนอย่างใด

ข้อ ๘. จำเลยทั้งหมดขอกราบเรียนต่อศาลว่า ในการชุมนุมของประชาชนครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิงสา และปราศจากอาวุธ แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามยั่วยุ ใช้ความรุนแรง ยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนอย่างบ้าระห่ำ แต่ประชาชนต่างก็พยายามอดทน ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่เคยเผาหรือทำลายทรัพย์สินใดๆ ของรัฐ ทั้งๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้เกิดความรุนแรงตลอดเวลา ต่างจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างรุนแรงที่มีการเผาห้างใจกลางกรุงเทมหานคร เผาศาลากลางเกือบทั่วประเทศ

ข้อ ๙. การชุมนุมของประชาชนมีเพียงกหวีดที่เป็นสัญลักษณ์ ไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ ไม่เป็นอาวุธโดยการใช้ และไม่เป็นอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑(๕) เสียงของนกหวีดที่เปล่งออกมานั้น ไม่เป็นถ้อยคำหรือภาษาใดในโลกที่แสดงเป็นการใส่ความ ดูหมิ่น เหยียดหยาม และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามใช้นกหวีดในการชุมนุม การชุมนุมของประชาชนครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่มีผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และมากที่สุดในโลก เนื่องจากทนไม่ได้กับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่น

ด้วยเหตุผลดังได้ประทานกราบเรียนต่อศาลมาแล้วข้างต้น ขอศาลได้โปรดพิจารณายกคำร้องของผู้ร้องเสีย หากศาลจะพิจารณาคำร้องขอถอนประกันก็ขอได้โปรดไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ได้เห็นข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้ง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อผู้ร้อง

คำร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้านายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายจำเลยที่ ๓, ๕, ๖, ๒๑, ๘๔ เป็นผู้เรียงและพิม์

ลงชื่อผู้เรียงและพิมพ์
กำลังโหลดความคิดเห็น