นกแอร์เร่งแผนอัดโปรโมชันแบบหลากหลาย เน้นเพิ่มบริการพิเศษ จูงใจควบคู่ลดราคา เปิดบินเส้นทางสู่โฮจิมินห์ใหม่ ตั้งเป้าปี 57 ผู้โดยสาร 8 ล้านคน Cabin Factor เฉลี่ย 80% “พาที” เผยการเมืองในประเทศฉุดผู้โดยสาร 2 เดือนแรกหดเหลือ 75-80% คนไทยเดินทางน้อยลง ขณะที่ปี 56 ฟันกำไร 1,075.3 ล้านบาท
นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนงานในปี 2558 ว่า บริษัทมีแผนจัดทำโปรโมชันเพื่อจูงใจผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยจะไม่มุ่งเน้นแต่การลดราคาเท่านั้น แต่จะเน้นในเรื่องการเพิ่มบริการพิเศษด้วย เพราะเชื่อว่าผู้โดยสารไม่ได้ตัดสินใจเลือกเพราะราคาต่ำอย่างเดียว แต่พิจารณาบริการที่มีคุณภาพด้วย โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้โดยสาร 7-8 ล้านคน อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ย (Cabin Factor) 80%
ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นการเพิ่มความถี่แต่ละเส้นทางให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น ส่วนแผนเปิดเส้นทางบินเพิ่มนั้น เบื้องต้นวางแผนไว้เพียง 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ (เวียดนาม) โดยจะเปิดให้บริการประมาณเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่นกแอร์เคยเปิดบินมาแล้ว แต่ยุติไปเมื่อปี 2551 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการเปิดบินใหม่อีกครั้งถือว่านกแอร์มความคุ้นเคยมากพอสมควร โดยเส้นทางดังกล่าวเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-ก.พ.) นั้น ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ Cabin Factor เฉลี่ยอยู่ที่ 75-80% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี Cabin Factor ที่ 85-90% เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่ของนกแอร์เป็นคนไทยที่ชะลอการเดินทางในช่วงที่ผ่านมา
ด้านนางสาวนวลวรรณ ภู่ประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน (CFO) นกแอร์ กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2556 (ม.ค.-ธ.ค. 56) มีรายได้รวม 11,314.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,259.6 ล้านบาท หรือ 37% มีกำไรสุทธิ 1,075.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% เนื่องจากมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 45.2% จากการรับมอบเครื่องบิน 6 ลำ แต่ยังสามารถรักษาอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบินที่ 84% ได้ ทั้งนี้ นกแอร์มีการขยายกำลังการผลิต โดยทยอยปรับฝูงบินให้มีความทันสมัยมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนเครื่องบินจากโบอิ้ง B 737-400/ 3 ลำสุดท้ายมาเป็น B737-800 รวมมีโบอิ้ง 14 ลำ ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการแบบประจำเป็น 51,247 เที่ยวบิน หรือ 39.2% และมีพื้นที่รองรับเพิ่ม เพราะ B737-800 สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 189 คน ขณะเครื่องรุ่นเก่าบรรทุกได้เพียง 150-170 ที่นั่ง และมีการเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศรวม 6 เส้นทาง ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 10,215.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% โดยค่าใช้จ่ายหลักคือน้ำมัน อยู่ที่ 3,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.7% เนื่องจากมีเครื่องบินมากขึ้นและมีการเพิ่มความถี่การบริการ แต่การใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ B737-800 ทำให้ประหยัดน้ำมันกว่ารุ่นเก่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเครื่องบินลง