xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเดินหน้าลดสต๊อกอะไหล่ส่วนเกิน ฝ่ายช่างวาง 4 กลยุทธ์ตั้งเป้าหั่นค่าใช้จ่าย 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยสมายล์ขยายข้อตกลงการบริการดูแลฝูงบินกับ แอร์บัส รุ่นเอ320 เพิ่ม 9 ลำรวมเป็น 20 ลำ 15 ปี “กัปตันมนตรี” เผยรูปแบบใหม่ช่วยลดค่าสต๊อกอะไหล่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลง 50% ระบุทำแล้วกับเอ 320 และ 380 เตรียมเจรจาเพิ่มรุ่น เอ 350 อีก 12 ลำ และโบอิ้งรุ่น 787/8 ลำ ส่วนรุ่นเก่าต้องรวบรวมหาบริษัทที่มีสต๊อกอะไหล่มากๆ มาทำข้อตกลงแทน เชื่อลดสต๊อกอะไหล่ส่วนเกิน คาดช่วยการบินไทยประหยัดค่าใช้จ่ายลง 50% จากปีละกว่า 1.3 หมื่นล้านช่วยบรรเทาสถานการณ์รายได้ไม่เข้าเป้า

เรืออากาศเอก มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่างของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยสมายล์ซึ่งเป็นสายการบินในเครือของบริษัท การบินไทย และแอร์บัสได้ขยายข้อตกลงการบริการดูแลฝูงบิน (FHS-TSP) หรือ Flight Hour Service อีกเป็นเวลา 15 ปี โดยเพิ่มเครื่องบิน เอ 320 ที่ได้ทำการเช่าเพิ่มเติมอีก 9 ลำ ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมฝูงบิน เอ 320 ของไทยสมายล์ทั้งหมด 20 ลำ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณด้านการซ่อมบำรุง เครื่องมือ อุปกรณ์ อะไหล่ลงประมาณ 50% จากรูปแบบเดิมที่ต้องซื้อเครื่องมืออุปกรณ์และอะไหล่ หรือ Tool & Equipment เมื่อสั่งซื้อเครื่องบินจากผู้ผลิตจะต้องซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ ในครั้งแรกประมาณ 1,000 ล้านบาท และสต๊อกอะไหล่ประมาณ 500 ล้านบาท โดยวงเงินค่าเครื่องมืออุปกรณ์จะเฉลี่ย 15 ปี ทยอยจ่ายรายปี อะไหล่เบิกใช้เมื่อจำเป็นไม่มีปัญหาอะไหล่ล้นสต๊อกทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

“การบินไทยถือเป็นลูกค้ารายแรกๆ ของแอร์บัสที่ทำสัญญาบริการดูแลฝูงบิน (FHS-TSP) ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งมีทั้งเครื่องบินเอ 320 และเครื่องบินเอ 380 โดยทางแอร์บัสได้ใช้พื้นที่ฟรีโซนของการบินไทยในสนามบินสุวรรณภูมิในการตั้งสต๊อกเพื่อดูแลลูกค้าที่เป็นสายการบินอื่นๆ ซึ่งการบินไทยจะได้ส่วนแบ่ง 15% จากอะไหล่ที่แอร์บัสขายให้สายการบินอื่นอีกด้วย" เรืออากาศเอก มนตรีกล่าว

นอกจากนี้ จะเจรจากับทางแอร์บัสในส่วนของเครื่องบิน แอร์บัส 350 จำนวน 12 ลำ และเจรจากับโบอิ้งเพื่อทำข้อตกลงในรูปแบบเดียวกันนี้ โดยเรียกว่า Go Care ในเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ ที่มีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อให้เครื่องบินใหม่ทุกลำเข้าระบบที่ผู้ผลิตเข้ามาดูแลด้านซ่อมบำรุง ไม่ต้องสั่งซื้อสต๊อกอะไหล่มาเผื่อกลายเป็นอะไหล่ตกค้างสิ้นเปลืองเพราะเกรงว่าเมื่อต้องการใช้จะไม่มีของ เพราะผู้ผลิตจะมาตั้งฐานสต๊อกที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เรืออากาศเอก มนตรีกล่าวว่า จากการสัมนาเพื่อกำหนดกลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่ายในหลายมิติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในฝ่ายช่างมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องมือ อะไหล่ค่อนข้างมาก ซึ่งมี 4 แนวทางในการปรับลด คือ 1. ซื้องานสนับสนุนจากผู้ผลิต 2. รวบรวมข้อมูลเครื่องบินรุ่นเก่าเพื่อหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านอะไหล่และซ่อมบำรุงซึ่งไม่สามารถทำข้อตกลง FHS-TSP กับผู้ผลิตได้แต่จะทำข้อตกลงกับบริษัทที่มีสต๊อกอะไหล่มากๆ เช่น แอร์ฟรานซ์, ลุฟท์ฮันซ่า เพื่อประหยัดการสั่งซื้อในแต่ละครั้ง 3. รวบรวมอุปกรณ์ อะไหล่ ส่วนเกินที่มีในสต๊อกขาย 4. อุปกรณ์ อะไหล่ของเครื่องบินที่ไม่มีในฝูงบินแล้วหรือตกรุ่นไปแล้ว ขายแล้วเช่ากลับมาใช้แทนจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาใช้ หรือ Sale & Lease back เช่น เครื่องยนต์ปีกของโบอิ้ง 747 ที่ตกรุ่นแล้ว เป็นต้น โดยหากทำตามแผนได้ทั้งหมดจะทำให้ประหยัดงบประมาณ หรือค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุงของการบินไทยจากปีละประมาณ 13,000 ล้านบาทลงได้ประมาณ 50%

ด้านนายดิดิเย่ร์ ลักซ์ รองประธานบริหารฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของแอร์บัส กล่าวว่า ทางแอร์บัสยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางการบินไทยให้ความไว้วางใจในคุณภาพด้านการบริการทางเทคนิค และนี่ถือเป็นแรงผลักดันอันสำคัญให้เรามีการเพิ่มกิจกรรมของการทำงานให้มากยิ่งขึ้นในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยสัญญาการบริการดังกล่าวมีขอบเขตการให้การบริการแก่เครื่องบิน เอ320 ครอบคลุมถึงการหาวัสดุเปลี่ยนทดแทน (LRUs) โดยรับประกันความพร้อมใช้งานของอะไหล่ผ่านระบบคลังสินค้ากองกลางและออนไซต์ที่สำนักงานใหญ่ของสายการบินไทยสมายล์ รวมทั้งสาขาที่เลือกรับบริการไว้ บริการซ่อม บริการด้านการขนส่ง บำรุงรักษาอุปกรณ์จ่ายกระแสไฟฟ้าและห้องเครื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น