ส่งออกส่อวิกฤต การเมืองป่วนทำลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ทิ้งไทย โยกคำสั่งซื้อไปประเทศคู่แข่งแทน เริ่มที่สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ยังดีอาหารยังไม่ลด แต่เริ่มถามถี่ยิบ จับตาเป้าปี 57 กระทบแน่ เอกชนเผยยอดไตรมาส 2 โคม่าแล้ว ลูกค้าหนีทั้งๆ ที่เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้น ซัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินซ้ำเติม ดิ้นบุกพบลูกค้าหลังไม่ยอมเดินทางมาไทย ห่วงออเดอร์หายแล้วหายเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกปัจจุบัน พบว่าผู้ซื้อสินค้าของไทยหลายรายเริ่มไม่เชื่อมั่นในการทำการค้ากับไทย โดยกังวลว่าไทยจะสามารถผลิตสินค้าได้ตามกำหนดเวลา หรือมีความสามารถในการส่งสินค้าได้หรือไม่ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในไทยทำให้ผู้ซื้อทั้งเก่าและใหม่กำลังมองหาแหล่งนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทน โดยได้หันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าในกลุ่มเดียวกับไทย
โดยสินค้าที่ลูกค้าเริ่มมองหาแหล่งผลิตจากประเทศอื่นๆ เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีประเทศอินโดนีเซีย บังกลาเทศ กัมพูชา และเวียดนาม ที่สามารถผลิตสินค้าได้เช่นเดียวกับไทย เครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มมองไปที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ขณะที่กลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่มีรายงานการเปลี่ยนแหล่งนำเข้าสินค้า เช่นเดียวกับกลุ่มอาหารที่ยังไม่มีการลดคำสั่งซื้อ แต่มีการสอบถามถึงความเชื่อมั่นการส่งสินค้าตามกำหนด
“ตอนนี้ลูกค้าที่เคยเป็นคู่ค้ากับไทยมานานก็ยังเริ่มมีความกังวล และเริ่มที่จะสั่งซื้อน้อยลง และหันไปเพิ่มการสั่งซื้อจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้นเพราะไม่มั่นใจที่จะสั่งซื้อจากไทย แต่หากเป็นลูกค้าใหม่ที่เพิ่งทำการค้ากับไทยได้ไม่นาน คนพวกนี้อาจจะไม่ซื้อต่อเลยเพราะเขาไม่เชื่อมั่น จึงหันไปซื้อจากประเทศอื่นทันที ซึ่งน่าเป็นห่วง หากไทยไม่เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นก็จะกระทบต่อยอดการส่งออกสินค้าไทยได้”
ทั้งนี้ ในปี 2557 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกว่าจะมีมูลค่า 243,096 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่คาดว่าจะขยายตัว 1% มูลค่า 231,514 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่การส่งออกในปี 2556 ที่จะมีการประกาศตัวเลขเดือน ธ.ค. 2556 ซึ่งเป็นตัวเลขเดือนสุดท้ายของปีในเร็วๆ นี้ คาดว่าน่าจะทำได้มูลค่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ยอดรวมการส่งออกทั้งปี 2556 มีโอกาสไม่ขยายตัว คือโต 0% หรือบวกเล็กน้อย หรือขยายตัวติดลบ เนื่องจากการส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2556 (ม.ค.-พ.ย.) ติดลบไปแล้ว 0.49%
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าไทยรายสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี กัมพูชา ได้มีการประกาศเตือนการเดินทางมาไทย ทำให้แผนการติดต่อธุรกิจต้องยกเลิกและอาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อในครั้งต่อไป เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ที่ตลาดศักยภาพ ได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก จีน และเยอรมนี
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไตรมาส 2 ปี 2557 แล้ว เนื่องจากลูกค้าได้ลดการสั่งซื้อ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และจีน มีทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย แต่ในเมื่อลูกค้าไม่เชื่อมั่น โอกาสที่การส่งออกปีนี้ตกอยู่ในความเสี่ยงก็มีสูง และเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% ก็เสี่ยงที่จะไม่ถึงเป้า
ในปัจจุบันลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงแหล่งนำเข้าได้ง่าย เพราะในภาวะปกติเขาก็มีแหล่งนำเข้าหลายที่อยู่แล้ว เช่น ในจีน เวียดนาม บังกลาเทศ กัมพูชา เป็นเรื่องการกระจายความเสี่ยง แต่พอไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมือง และตอกย้ำด้วยการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะไม่นำเข้าสินค้าจากไทยหรือนำเข้าลดลง และไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่นๆ แทน เพราะเขาไม่อยากเสี่ยงที่จะไม่มีสินค้าวางจำหน่าย หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไทยส่งสินค้าไม่ได้ ทั้งๆ ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็ได้อธิบายสถานการณ์และยืนยันความสามารถในการผลิตและส่งออกแล้วก็ตาม
“การแก้ปัญหาตอนนี้ เอกชนต้องออกไปพบลูกค้าในต่างประเทศแทนการรอให้ลูกค้าเข้ามาพบปะกัน เพราะเดิมทีเราจะนัดพบลูกค้าในช่วงงานแฟร์ต่างๆ ที่จัดขึ้น แต่ตอนนี้ลูกค้าบางส่วนได้ยกเลิกการเดินทาง แม้งานจะจัดอยู่ก็ตาม เราก็ต้องไปหาเขา ไปนำเสนอสินค้า และไปย้ำว่าปัญหาการเมืองไม่กระทบต่อการผลิต การขนส่ง เรายังคงผลิตและส่งออกได้เหมือนเดิม ถ้าไม่ทำก็กลัวว่าหากปล่อยให้ออเดอร์หลุดไปยังประเทศอื่นก็อาจจะไม่กลับมาอีก” นายวัลลภกล่าว