เรกูเลเตอร์นัดถกเคาะตัวเลขขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 57)วันนี้ (26 ธ.ค.) หวังกดค่าไฟให้ลดต่ำกว่า 6-7 สตางค์ต่อหน่วยตามต้นทุนที่คำนวณ โดยอาจให้ กฟผ.แบกภาระ เหตุไม่ต้องการให้ประชาชนรับภาระมากเกินไปท่ามกลาง ศก.ที่ยังไม่ดีนัก ขณะที่ ก.พลังงานเร่งหนุนใช้พลังงานอย่างพอเพียงนำแนวพระราชดำริในหลวงมาปรับใช้ช่วยลดวิกฤตราคาพลังงานแพง
นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า วันที่26 ธ.ค.จะมีการประชุมพิจารณาการประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ Ft ที่จะเรียกเก็บในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2557 หลังจากที่คณะทำงานได้มีการพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตไฟโดยรวม โดยเฉพาะปัจจัยค่าเงินบาท ราคาก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ เสนอมาแล้ว โดยยอมรับว่าต้องปรับเพิ่มขึ้นแต่จะเป็นอัตราใดจะขอพิจารณารายละเอียดก่อน เนื่องจากจะต้องพิจารณาถึงแนวโน้มค่าไฟในงวดต่อไปและภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการแบกรับภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ด้วย
แหล่งข่าวจากเรกูเลเตอร์กล่าวว่า ค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 57 มีแนวโน้มปรับขึ้น 6-7 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งปัจจัยหลักมาจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากการคำนวณงวดที่ผ่านมาเฉลี่ย 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบค่าไฟเพิ่มขึ้น 5.6 สตางค์ต่อหน่วย และราคาก๊าซฯ ปรับขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวคณะทำงานฯ ก่อนหน้านี้มีความเห็นว่าอัตราดังกล่าวอาจเป็นภาระต่อประชาชนมากไปจึงพยายามที่จะให้ค่า Ft ขึ้นต่ำกว่า 6-7 สตางค์ต่อหน่วย
“งวดที่ผ่านมา กฟผ.ยังแบกรับภาระไว้ 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่า Ft เฉลี่ย 1-2 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งอาจต้องให้ กฟผ.แบกรับภาระไปก่อน ส่วนกรณีที่มีเงินเหลือเก็บจากหน่วยงานไฟฟ้าที่ลงทุนไม่เป็นไปตามแผนอีกประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้นคณะทำงานก็เสนอให้เก็บไว้ก่อนเนื่องจากเกรงว่าค่าเงินบาทงวดต่อไปหากอ่อนค่าอีกจะกระทบให้ค่าไฟสูงได้ ซึ่งล่าสุดค่าบาทก็เริ่มแตะระดับ 33 บาทต่อเหรียญแล้วทิศทางค่าไฟงวดต่อไปคงต้องขึ้นแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน Dinner Talk เชิดชูเกียรติผู้นำรักษ์พลังงาน ภายใต้โครงการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานภายในอาคารด้วยความสมัครใจ (Voluntary Agreement : VA) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านวิกฤตพลังงานหลายด้าน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับปริมาณสำรองพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกที่ใกล้หมดลง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยต้องนำเข้าพลังงานสูงตามไปด้วย ดังนั้นกระทรวงพลังงานพร้อมผลักดันให้ทุกภาคส่วนร่วมกันอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง โดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการนำแนวคิดใช้อย่างพอเพียงและใช้อย่างไม่สุดโต่งเกินไป จะทำให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นวิกฤตพลังงานได้
“กรณีการหยุดส่งก๊าซจากแหล่งยาดานา พม่า ในวันที่ 31 ธ.ค. 2556 ถึง 14 ม.ค. 2557 ซึ่งเลื่อนจากเดิม 25 ธ.ค. 2556-8 ม.ค. 2557คงไม่มีปัญหาสามารถควบคุมและบริหารจัดการได้เพราะเป็นช่วงใช้พลังงานต่ำกว่าสำรองที่มีอยู่เพราะช่วงปีใหม่ธุรกิจต่างๆ หยุดดำเนินกิจการ ส่วนกรณีเดิมกังวลการใช้ในพื้นที่เขต กทม.ที่มีสัดส่วนที่สูง 9,000 เมกะวัตต์แต่สายส่งไม่พอที่จะวิ่งกระแสไฟฟ้า จึงต้องมีการบริหารจัดการถ่วงกระแสไฟให้จ่ายได้อย่างทั่วถึงซึ่งก็จะไม่มีปัญหาแล้ว” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว