xs
xsm
sm
md
lg

“นิวัฒน์ธำรง” ห่วงยุบสภาขายข้าวสะดุด พร้อมขอ กกต.อนุมัติแทรกแซงมันสำปะหลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิวัฒน์ธำรง” หวั่นยุบสภาทำระบายข้าวในสต๊อกรัฐสะดุด เตรียมถามฝ่ายกฎหมายยังมีอำนาจเซ็นอนุมัติขายข้าวได้หรือไม่ ส่วนการแทรกแซงมันสำปะหลัง ขอ กกต.อนุมัติให้ดำเนินการ

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (11 ธ.ค.) ว่า จะสอบถามฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปว่าในฐานะรักษาการ รมว.พาณิชย์ จะสามารถลงนามอนุมัติขายได้หรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลได้ยุบสภา เพราะในทางปฏิบัติแม้กรมการค้าต่างประเทศจะเป็นผู้ดำเนินการระบายข้าว แต่ขั้นตอนสุดท้ายต้องเสนอให้ รมว.พาณิชย์อนุมัติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการใดๆ

“การระบายข้าว หากเป็นการระบายข้าวตามกรอบเดิมที่ได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นกรอบใหม่ก็อยากถามฝ่ายกฎหมายก่อนว่าผมอนุมัติได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง มีการกำหนดกรอบการระบายไว้แล้ว น่าจะดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่”

สำหรับการระบายข้าวในสต๊อกในสมัยที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีการระบายได้เกือบ 3 ล้านตัน แบ่งเป็นการขายจีทูจีให้จีนประมาณ 2 ล้านตัน ขายให้อิหร่าน 2.5 แสนตัน และขายผ่านการประมูลทั่วไปอีก 6-8 แสนตัน ล่าสุดสามารถส่งเงินคืนกระทรวงการคลังได้แล้วประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีจะสามารถคืนเงินได้ตามแผน และยังมีการเจรจาขายข้าวให้อินโดนีเซียทั้งแบบจีทูจี และไม่ใช่จีทูจี โดยยืนยันได้ว่าการระบายข้าวมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มามือเปล่าก็กลับไปมือเปล่า

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า สำหรับโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี 2556/57 ที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชยหรือรับจำนำมันสำปะหลัง ต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะมีการยุบสภา และกระทรวงพาณิชย์จะนำเรื่องเสนอสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เกษตรกรร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา

ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้าไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน แต่เพราะต้องการรักษาวินัยทางการเงินการคลังไม่ให้เกินกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ 2.7 แสนล้านบาท ประกอบกับสำนักงบประมาณถูกยึด แต่ กขช.ได้กำหนดกรอบให้ ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือก่อนปีใหม่ โดยให้เร่งจ่ายเงินให้เกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำก่อน หรือในจังหวัดที่มีเกษตรกรจำนวนมาก และเดือดร้อน เช่น เชียงราย พะเยา พิษณุโลก อยุธยา อ่างทอง ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ เป็นต้น

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าเกษตรกรไม่พอใจรัฐบาลที่จ่ายเงินช้าและจะปิดถนนประท้วง จากการสอบถามผู้นำเกษตรกรพบว่า เกษตรกรไม่ได้ต้องการทำเช่นนั้น และไม่ต้องการเข้าร่วมกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล แต่ที่อาจจะต้องทำเพราะต้องการให้รัฐบาลทราบว่าเดือดร้อนมาก หากรัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้ก็จะไม่ปิดถนนประท้วงแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น