สถาบันก่อสร้างฯ เผย ศก.ที่ชะลอตัวส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างพลาดเป้าหมายล้านล้านบาทในปีนี้ คาดปี 2557 ยังชะลอตัวแต่ยังหวังโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านและเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาทเดินหน้าช่วยหนุน วางแผนงานปีหน้าสบช่องตลาดไทยชะลอดันลงทุนนอกปลาย ม.ค. 57 ก่อสร้างภูฏานเยือนไทยหวังเชื่อมไปลงทุน พร้อมเร่งวางมาตรฐานให้เทียบชั้นสากล
นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดลงว่าอาจโตไม่ถึง 3% นั้นทำให้แนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยปี 2556 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโต 8-8.5% จากปีก่อน หรือมีมูลค่าลงทุน 1 ล้านล้านบาทได้ ส่วนปี 2557 ทิศทางยังคงชะลอตัวลงจากปีนี้หากพิจารณาการทำสัญญาของเอกชนกับรัฐในปีงบประมาณใหม่ที่ยังคงน้อย เช่นเดียวกับการก่อสร้างเอกชนโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม อาคารบ้านเรือนที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่กลางปีนี้มาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทและโครงการเมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาทก็จะมีส่วนกระตุ้นให้การเติบโตเปลี่ยนแปลงได้
“ปีนี้มูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างคงไม่ถึงเป้าล้านล้านบาท เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนปีนี้ไตรมาส 3 มีเพียง 1.29 แสนล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าถึง 1.42 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ปีนี้การลงทุนมากอยู่ที่ภาคเอกชนทำให้ภาพรวมไตรมาส 3 ปีนี้มูลค่าการลงทุนติดลบ 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน” นายจักรพรกล่าว
สำหรับการดำเนินงานของสถาบันฯ ปี 2557 จะมุ่งเน้น 2 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1. การหนุนภาคก่อสร้างไทยไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านหลังจากปีนี้แทบจะไม่มีการออกไปเพราะงานในประเทศค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ปี 2557 หากงานในประเทศน้อยก็จะถือเป็นโอกาสที่ดี และประเทศที่น่าสนใจนอกจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงคือ ประเทศภูฏานที่มีการเติบโตการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะกิจการไฟฟ้าพลังน้ำและโรงแรมที่พักอาศัย ซึ่งในปลายเดือน ม.ค. 57 สมาคมก่อสร้างของภูฏานจะมาเยี่ยมดูงานในไทยก็จะเป็นโอกาสในการเชื่อมการลงทุนได้เป็นอย่างดี
2. การเร่งวางมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพของวิสาหกิจก่อสร้างที่จะมุ่งสู่มาตรฐานในระบบสากลมากขึ้น ทั้ง ISO 9000 และ ISO 21500 และมาตรฐานบุคลากรในงานก่อสร้างซึ่งขณะนี้ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งกำหนดเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เข้ามาร่วมมาตรฐานอยู่ในบัญชีรายชื่อจัดลำดับความถนัดของงาน เช่น ก่อสร้างบ้าน อาคาร คอนโดมิเนียม ถนน ฯลฯ ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงติดต่อกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาผู้รับเหมาไม่มีมาตรฐานและหายาก ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง นอกจากนี้ยังจะมีการวางระบบมาตรฐานในวัสดุก่อสร้างในประเภทต่าง ๆ ด้วย เป็นต้น